คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ว.ส., ป., ก. คนใดคนหนึ่งในสี่คนเป็นผู้แทนของโจทก์และให้มีอำนาจกระทำการแจ้งความดำเนินคดี แต่งตั้งทนายความ ฟ้องต่อสู้และดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์โจทก์ ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบุคคลใดในข้อหาใดที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบุคคลและข้อหาที่จะฟ้องในหนังสือมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้จำนองและผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความละเมิดตามมาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสำอางค์ โพธิ์ศรีฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานตำแหน่งผู้จัดการของโจทก์จำเลยที่ 2 เคยเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2527คณะกรรมการของโจทก์ตรวจพบหลักฐานทางบัญชีว่า ในวันที่ 29มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ซื้อข้าวสารจากโรงสีสมควรธัญญา 200กระสอบ เป็นเงิน 102,000 บาท จำเลยที่ 2 อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่ข้าวสารที่ส่งมอบในวันที่ 30 มีนาคม 2527มีเพียง 30 กระสอบ ขาดบัญชีไป 170 กระสอบเป็นเงิน 86,700 บาทและโรงสีสมควรธัญญาไม่มีตัวตน แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาข้าวสาร 170 กระสอบ หรือเงิน 86,700บาท ของโจทก์ไปเป็นของตน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และตามสัญญาจำนอง โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วและโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2527 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 39,279 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนข้าวสาร170 กระสอบ หากคืนไม่ได้ให้คืนเงิน 86,279 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 39,279 บาท และในอัตราร้อยละ14 ต่อปี ของต้นเงิน 86,700 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนข้าวสารหรือเงินแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้จำเลยที่ 3ใช้แทนถ้าไม่ใช้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระแทนจนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ระบุว่าให้ฟ้องคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งไม่ระบุเรื่องราวหรือข้อหาที่จะฟ้องไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนและให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2515จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต่อมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการ มีการสั่งซื้อข้าวสาร 200 กระสอบ เป็นเงิน 102,000 บาทแต่มีการส่งมอบข้าวสารที่ซื้อเพียง 30 กระสอบ ขาดไป 170 กระสอบเป็นเงิน 86,700 บาท ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ระบุว่าให้ฟ้องจำเลยที่ 3 และไม่ได้ระบุเรื่องราวหรือข้อหาที่จะฟ้องนั้นเห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า”โจทก์มอบอำนาจให้นายวน จันทร์แดง นายสำอางค์ โพธิ์ศรีนายประสาร เพชรมอญ นายกองหนุน ศรีนาคคนใดคนหนึ่งในสี่คนเป็นผู้แทนของโจทก์และให้มีอำนาจกระทำการแจ้งความดำเนินคดีแต่งตั้งทนายความ ฟ้องต่อสู้ และดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์(โจทก์) ฯลฯ” ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบุคคลใดในข้อหาใดที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อบุคคลและข้อหาที่จะฟ้องในหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใดผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้จำนองและผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย…
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่วันละเมิดจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share