คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มีการทุจริตโดยมีการทอดบัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งลงไปใน หีบบัตรเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนที่จำเลยรับผิดชอบอยู่ แต่ตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดฯ ได้แบ่งหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจนับคะแนนออกเป็น 5 ฝ่าย ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปช่วยเหลือจำเลยที่ 2ทำหน้าที่หรือรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย จึงฟัง ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 กระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ส่วนการทำรายงานแสดงผลการนับคะแนนซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการตรวจคะแนนทุกคนนั้น เมื่อมีการแบ่งหน้าที่ทำกันและจำเลยที่ 3ถึงที่ 8 ไม่อาจทราบได้ว่ามีผู้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งและทอดบัตรเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด การทำรายงานแสดงผลการนับคะแนน ย่อมทำไปตามที่ปรากฏจากบัญชีผู้เลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งที่ผู้ใช้สิทธิทอด แม้จะปรากฏว่ารายงานแสดงผลการนับคะแนนไม่ตรงต่อความเป็นจริงก็ไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8มีเจตนาทุจริตร่วมกับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานดำเนินการเลือกตั้ง มีหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมดูแลการเลือกตั้งประจำหน่วยลงคะแนน ซึ่งเป็นหน้าที่ทั่ว ๆ ไปเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อยหาได้มีหน้าที่ตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งไม่ จำเลยที่ 9ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คะแนนมีหน้าที่แต่เพียงขีดคะแนนลงบนแผ่นป้ายกระดานดำในตอนที่มีการนับคะแนนเท่านั้นมิได้มีหน้าที่อื่นเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 9 เข้าไปช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 9 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83, 91 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 14, 25, 28, 29, 31, 46, 50, 58, 59,60, 70, 71 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2523 มาตรา 4, 17, 18, 19, 24 กฎกระทรวงมหาดไทยและระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2523 ออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 กฎกระทรวง ข้อ 3, 4,7, 19, 25, 27, 28, 29, 30 และระเบียบข้อ 17, 19, 26, 29,50, 53, 62, 64, 65, 66, 67, 78
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 58 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปีจำเลยที่ 1 และที่ 9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 3 ถึงที่ 9 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ออกประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานดำเนินการเลือกตั้ง จำเลยที่ 2ถึงที่ 8 เป็นกรรมการตรวจคะแนนและจำเลยที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด หน่วยลงคะแนนที่ 1ตำบลปากช่อง เขตเลือกตั้งอำเภอหล่มสัก เมื่อเสร็จการลงคะแนนแล้วหน่วยลงคะแนนที่ 1 ได้ส่งหีบบัตรเลือกตั้งและรายงานแสดงผลการนับคะแนนไปยังศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ปรากฏว่าบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งของหน่วยดังกล่าวมีการขีดเครื่องหมายถูกแทนการลงเลขหมายบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนนปัญหามีว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ถึงที่ 9 กระทำผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า กรรมการหน่วยลงคะแนนที่ 1 ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ส่งหีบบัตรเลือกตั้งมายังศูนย์อำนวยการเลือกตั้งล่าช้ากว่าทุกหน่วยหลังจากหมดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว และเมื่อคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเลือกตั้งได้เปิดหีบบัตรเลือกตั้งออกตรวจดูบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง ปรากฏว่ามีรายชื่อของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ขีดเครื่องหมายถูก อยู่ 2-3 แห่ง บางแห่งลงไว้เพียงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน มิได้ลงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งตามระเบียบของทางราชการ ผลการนับคะแนนของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเลือกตั้งปรากฏว่า หน่วยลงคะแนนที่ 1 ตำบลปากช่องจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งจำนวน2,482 คน ได้มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนรวมทั้งสิ้น 2,138 คน ใช้สิทธิลงคะแนน 2,138 คน เฉพาะหมู่ที่ 1และหมู่ที่ 11 มีการขีดเครื่องหมายถูก ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งรวม 358 คน จดหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน170 คน แสดงว่า 2 หมู่บ้านนี้มีผู้มาใช้สิทธิรวม 528 คนส่วนหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 10 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,368 คนแม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปใช้สิทธิทั้งหมดเมื่อรวมกับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 11 จำนวน 528 คน แล้วคงมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,896 คน ไม่ถึงจำนวน 2,138 คนแสดงว่ามีการทุจริตโดยมีการทอดบัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งลงไปในหีบบัตรเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนที่ 1 ที่จำเลยรับผิดชอบอยู่และก่อนมีการเลือกตั้ง นายอำเภอหล่มสักผู้อำนวยการเลือกตั้งได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่เลือกตั้งทุกคนให้เจ้าหน้าที่ทุกคนประจำหน่วยเลือกตั้งมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตัวให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงมอบบัตรเลือกตั้งให้ไปกาบัตรลงคะแนนในคูหาลงคะแนนก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ. 2482 มาตรา 28 ประกอบกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2523) ข้อ 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แบ่งหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจคะแนนซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีหน้าที่ออกเป็น 5 ฝ่าย ด้วยกันคือ ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยในที่เลือกตั้ง ฝ่ายตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งฝ่ายส่งบัตรเลือกตั้งให้กับผู้เลือกตั้งที่มาแสดงตนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนน ฝ่ายควบคุมดูแลคูหาลงคะแนนและฝ่ายรับบัตรเลือกตั้งจากผู้เลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายเสร็จแล้วใส่ลงในในหีบบัตรเลือกตั้ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2ซึ่งศาลลงโทษไปแล้วแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจคะแนนนั้น โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ได้เข้าไปช่วยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่หรือรู้เห็นการกระทำในการตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งและขีดเครื่องหมายถูกแทนการลงเลขบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 2 ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 กระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 2สำหรับการทำรายงานแสดงผลการนับคะแนนซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการตรวจคะแนนทุกคนนั้น เมื่อได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 มิได้มีหน้าที่ตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งและลงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีผู้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งและทอดบัตรเลือกตั้งเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด การทำรายงานแสดงผลการนับคะแนนย่อมทำไปตามที่ปรากฏจากบัญชีผู้เลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งที่ผู้ใช้สิทธิทอด แม้ต่อมาจะปรากฏว่ารายงานแสดงผลการนับคะแนนจะไม่ตรงต่อความเป็นจริงก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ถึงที่ 8 มีเจตนาทุจริตร่วมกับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ ส่วนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าพนักงานดำเนินการเลือกตั้งมีหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมดูแลการเลือกตั้งประจำหน่วยลงคะแนนที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ทั่ว ๆ ไปเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อยเท่านั้น หาได้มีหน้าที่ตรวจบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งจดหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประจำตัวประชาชนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คะแนนมีหน้าที่แต่เพียงขีดคะแนนลงบนแผ่นป้ายกระดานดำในตอนที่มีการนับคะแนนเท่านั้นมิได้มีหน้าที่อื่น เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 9 เข้าไปช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดแก่จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 9 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 กระทำผิด”
พิพากษายืน

Share