แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์เคยประพฤติตนไม่เหมาะสมมาก่อน หาได้ถูกล้างไปตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพ.ศ. 2526 มาตรา 5 ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้มีผลแต่เพียงว่าไม่เคยทำผิดวินัยเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการต้นสังกัดของโจทก์จึงสามารถนำเอาความประพฤติชั่วของโจทก์ในครั้งก่อน ๆมาพิจารณาประกอบความประพฤติที่ไม่สมควรในครั้งหลัง และถือว่าโจทก์ประพฤติไม่สมควรและประพฤติชั่วหลายครั้งหลายหน ไม่เข็ดหลาบเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ปลดโจทก์ออกจากราชการได้ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการทหาร จำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากราชการโดยยกเอาความผิดซึ่งได้รับนิรโทษกรรมแล้วมาเป็นสาเหตุจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งซึ่งสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ และมีคำสั่งรับโจทก์เข้ารับราชการตามเดิมหากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน1,545,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ตลอดจนแบบธรรมเนียมของกองทัพบก คำสั่งของจำเลยจึงชอบ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่อาจรับโจทก์เข้ารับราชการต่อไปได้ตามเดิม จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 6,305 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนายทหารประจำการกองทัพบกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่26 เมษายน 2521 ขณะที่โจทก์ประจำการอยู่ที่สถานพักผ่อน กองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก ราษฎรบ้านแพนอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บัญชาการทหารบกกล่าวหาโจทก์ว่า อาศัยอิทธิพลของเครื่องแบบและอ้างกลุ่มนวพลเรียกร้องค่าคุ้มครองในการเดิน รถยนต์โดยสารสายอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงกรุงเทพมหานครเจ้ากรมพลาธิการทหารบก ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน ได้ความว่าพฤติการณ์ของโจทก์มีมูลความจริง ผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องและให้กรมพลาธิการทหารบกสอดส่องดูแลมิให้โจทก์มีการกระทำในทำนองดังกล่าวอีก ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.1หน้า 99 ต่อมาโจทก์ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มต่าง ๆ อีกเจ้ากรมพลาธิการทหารบกจึงสั่งให้กรมสารวัตรทหารบกตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการดังกล่าวสืบแล้วได้ความว่า โจทก์สนับสนุนการเดิน รถยนต์โดยสารสายบางปูถึงเอกมัย โดยมีอักษรข้างรถว่า สวัสดิการครอบครัวทหารบางปู ประพฤติตนเป็นธุระอำนวยความสะดวกแก่รถยนต์โดยสารที่ผิดกฎหมาย โดยใช้ชื่อว่านวพลอดิศร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้แทน บก.นวพลส่วนหน้าผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้ลงทัณฑ์โจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และให้ทำทัณฑ์บนไว้ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.1 หน้า 103เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กรมการทหารช่างจังหวัดราชบุรี โจทก์ถูกร้องเรียนว่า โจทก์อ้างตัวเป็นเลขาธิการนวพลหลอกลวงประชาชน จัดอุปสมบทหมู่โดยอ้างชื่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่าเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานพิธีอุปสมบทหมู่ และมีนวพลรบอดิศรเสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการจัดงาน กรมการทหารช่างจังหวัดราชบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ความว่า โจทก์ใช้ชื่อนวพลรบอดิศร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา อ้างชื่อผู้บังคับบัญชาเป็นกรรมการที่ปรึกษาในพิธีอุปสมบทหมู่ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติไม่สมควรเป็นการผิดวินัยทหารจึงลงทัณฑ์กัก 3 วัน โจทก์ได้รับทัณฑ์ดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อเจ้ากรมการทหารช่าง จังหวัดราชบุรี เสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ได้เสนอให้เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์ว่า จะเข้าเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการตามทัณฑ์บนหรือไม่ เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ทำผิดเงื่อนไขในทัณฑ์บนไม่อาจปลดออกจากราชการได้เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เสนอให้เจ้ากรมสารบรรณทหารบกพิจารณาถึงพฤติการณ์ของโจทก์ที่ประพฤติไม่สมควรหลาย ๆ ครั้ง แม้จะเป็นเรื่องคนละกรณีว่าจะเข้าเกณฑ์ต้องปลดออกจากราชการตามแบบธรรมเนียมใด ๆ ของกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกได้กำหนดไว้หรือไม่ ในที่สุดเจ้ากรมกำลังพลทหารบกและเจ้ากรมสารบรรณทหารบกเห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่ควรจะให้อยู่ในสังคมทหารอีกต่อไป เห็นควรปลดออกจากราชการ จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประพฤติตนโดยไม่ชอบมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้จนกระทั่งถูกผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสั่งให้สอดส่องดูแลความประพฤติของโจทก์ ต่อมาโจทก์ก็ยังประพฤติตนโดยไม่ชอบทำนองเดียวกันอีก ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งให้ลงทัณฑ์โดยการภาคทัณฑ์และทำทัณฑ์บนไว้ ต่อมาโจทก์ก็ยังได้แอบอ้างชื่อผู้บัญชาการทหารบกและผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจัดพิธีอุปสมบทหมู่อีกพฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และการที่โจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมดังกล่าว ก่อนคดีนี้หาได้ถูกล้างไปตามพระราชบัญญัติ ล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพ.ศ. 2526 มาตรา 5 ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้มีผลแต่เพียงว่าไม่เคยทำผิดวินัยเท่านั้น จำเลยสามารถนำเอาความประพฤติชั่วของโจทก์ในครั้งก่อน ๆ มาพิจารณาประกอบได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ประพฤติไม่สมควรและประพฤติชั่วหลายครั้งหลายหน ไม่เข็ดหลาบ ทั้ง ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาให้โอกาสแก่โจทก์แล้ว กรณีถือได้ว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเข้าหลักเกณฑ์ให้ปลดออกจากราชการตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จประจำปี พ.ศ. 2519 ข้อ 11.2 และตามคำสั่งกองทัพบกที่ 176/2508 เรื่อง การหมุนเวียนกำลังพล ลงวันที่10 มิถุนายน 2508 ข้อ 1.10 ตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 104 และหน้า 127 ตามลำดับ คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน