คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ส. จะมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับจำเลยในการกระทำผิดมาแต่ต้น แต่เมื่อ ส. ไม่เคยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ คำเบิกความของ ส. มิใช่จะรับฟังไม่ได้เสียเลย ถ้าโจทก์มีพยานอื่นประกอบก็รับฟังลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๗, ๘๔, ๒๘๘ และ ๒๘๙ กับริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนแล้วหลบหนีไปไม่ได้ตัวมาพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ และ ๘๓ วางโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิตริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสมพรมาเบิกความว่า นางสมพรกับจำเลยที่ ๑ ลักลอบได้เสียกันที่โรงแรมหลายครั้ง จำเลยที่ ๑ ต้องการฆ่าผู้ตายเพื่อให้นางสมพรไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๑ ระหว่างอยู่ด้วยกันในโรงแรมจำเลยที่ ๑ บอกว่าได้นำเงิน ๔,๐๐๐ บาท ไปให้จำเลยที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ นำเงินดังกล่าวไปให้นายประวุฒิว่าจ้างมือปืนมาฆ่าผู้ตาย ปรากฏรายละเอียดดังที่ศาลฎีกาขึ้นกล่าวอ้างในข้อนำสืบของโจทก์ ที่นางสมพรมิได้เล่าเรื่องลักลอบได้เสียกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสาเหตุให้จำเลยที่ ๑ คิดฆ่าผู้ตายและจำเลยที่ ๑ นำเงินไปให้จำเลยที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ นำเงินไปให้นายประวุฒิจัดการว่าจ้างมือปืนมายิงผู้ตาย ให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฟังตั้งแต่วันผู้ตายถูกฆ่าแต่เพิ่งจะเล่าให้พนักงานสอบสวนฟังหลังจากผู้ตายถูกฆ่า ๔ วัน เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกมาสอบคำให้การเพิ่มเติมนั้น ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้คำเบิกความของนางสมพรในเรื่องดังกล่าวไม่น่าเชื่อเสียเลย เพราะขณะนั้นนางสมพรกำลังรักใคร่ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ ๑ และการร่วมประเวณีกับชายอื่นที่มิใช่สามีเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ซึ่งนางสมพรได้เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจฟังเพราะเกรงว่าญาติของผู้ตายจะดูหมิ่นเหยียดหยาม ระหว่างนั้นนางสมพรอาจจะลังเลใจว่าจะเล่าเรื่องดังกล่าวให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนฟังหรือไม่เมื่อร้อยตำรวจตรีประทีปไปสืบสวนหาสาเหตุที่ผู้ตายถูกฆ่าที่ตลาดยิ่งเจริญ จนทราบจากนางวราภรณ์ซึ่งขายเนื้อสุกรชำแหละในตลาดดังกล่าวว่า จำเลยที่ ๑ เคยเล่าให้นางวราภรณ์ฟังว่า จำเลยที่ ๑ เคยลักลอบได้เสียกับนางสมพรซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเรียกนางสมพรมาสอบคำให้การเพิ่มเติม นางสมพรจึงได้ตัดสินใจเล่าเรื่องดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนฟัง แม้นางสมพรจะมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับจำเลยที่ ๑ มาแต่ต้น แต่เมื่อนางสมพรไม่เคยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ คำเบิกความของนางสมพรมิใช่จะรับฟังไม่ได้เสียเลย ถ้าโจทก์มีพยานอื่นประกอบก็รับฟังลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้ ศาลฎีกานำคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ มาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนางสมพรและพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีดังกล่าวแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ และ ๘๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา ๒๘๙ มีหลายอนุมาตรา แต่ละอนุมาตรามีองค์ประกอบความผิดไม่เหมือนกัน เมื่อข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความเข้าลักษณะอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามอนุมาตราใดของมาตรา๒๘๙ ก็ชอบที่ศาลจะระบุอนุมาตรานั้นๆ ไว้ด้วย จึงเห็นควรแก้ไขเสียให้ชัดเจน’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ และ ๘๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share