คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทผู้ร้องกำหนดว่า ลูกจ้างต้องไม่นำสิ่งอื่นใดนอกจากงานในหน้าที่มาทำในเวลาทำงานหรือในสถานที่ทำงานของบริษัท ย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า ห้ามลูกจ้างนำสิ่งอื่นใดนอกจากงานในหน้าที่เข้ามาทำในสถานที่ทำงาน หรือทำสิ่งอื่นใดซึ่งไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในเวลาทำงานปกติหรือนอกเวลาทำงาน ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างนำเครื่องวิทยุมาซ่อมในสถานที่ทำงานซึ่งไม่ใช่งานในหน้าที่แม้จะเป็นการทำนอกเวลาทำงานก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของบริษัทผู้ร้องได้นำเครื่องวิทยุมาซ่อมในห้องสโตร์อันเป็นกิจส่วนตัวหลังเลิกงานเวลา 17 นาฬิกา ห้องสโตร์เป็นสถานที่เก็บวัสดุภัณฑ์ทุกชนิดของผู้ร้อง เมื่อหมดเวลาทำงานปกติ พนักงานทุกคนต้องออกไปนอกห้องสโตร์ ผู้คัดค้านทราบดีแต่ละเลยเพิกเฉย เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง ข้อ 6.3 “ต้องไม่นำ ทำสิ่งอื่นใดนอกจากงานในหน้าที่มาทำในเวลาทำงานหรือในสถานที่ทำงานของบริษัทฯ”ผู้ร้องจึงขออนุญาตศาลลงโทษผู้คัดค้านด้วยการออกหนังสือภาคทัณฑ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่เคยทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เพราะระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดห้ามนำหรือทำสิ่งใดบ้าง ตามปกติเมื่อหมดเวลาทำงานแล้ว พนักงานอื่นและผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิจะทำกิจส่วนตัวตามสมควร ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิลงโทษผู้คัดค้านด้วยการออกหนังสือภาคทัณฑ์ได้ ขอให้ศาลสั่งยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 6.3 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยออกหนังสือภาคทัณฑ์ได้ตามขอ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องกำหนดไว้ชัดแจ้งถึงหน้าที่ที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติต่อนายจ้าง หรือห้ามมิให้ปฏิบัติต่อนายจ้าง เมื่อระเบียบข้อบังคับ ข้อ 6.3 มิได้กำหนดห้ามไว้ชัดแจ้งว่าห้ามทำอะไรบ้างในสถานที่ทำงานนอกเวลาทำงาน ผู้คัดค้านไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ร้องห้ามทำอะไรบ้าง เมื่อระเบียบข้อบังคับ ข้อ 6.3 ไม่ได้กำหนดห้ามไว้ชัดแจ้ง จึงไม่มีผลใช้บังคับต่อลูกจ้าง การกระทำของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับ ผู้ร้องจึงไม่อาจลงโทษผู้คัดค้านได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.1 ในเรื่องวินัยและโทษทางวินัยข้อ 6.3 ที่ว่า “ต้องไม่นำ ทำสิ่งอื่นใดนอกจากงานในหน้าที่มาทำในเวลาทำงาน หรือในสถานที่ทำงานของบริษัทฯ” นั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ห้ามลูกจ้างนำสิ่งอื่นใดนอกจากงานในหน้าที่เข้ามาทำในสถานที่ทำงาน หรือทำสิ่งอื่นใดซึ่งไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในเวลาทำงานปกติหรือนอกเวลาทำงานก็ตาม และหากมีการฝ่าฝืน ก็ถือว่าเป็นการผิดวินัยและมีโทษ ซึ่งกำหนดไว้ 6 สถาน โดยพิจารณาโทษหนักเบาตามลักษณะความผิดตามควรแก่กรณีคือ
(1) ตักเตือนด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร
(2) ภาคทัณฑ์หรือให้ทำทัณฑ์บน
(3) พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง
(4) ตัดค่าจ้าง
(5) งดการพิจารณาขึ้นค่าจ้างสำหรับปีนั้น ๆ หรือปีถัดไป
(6) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชย
การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างนำเครื่องวิทยุมาซ่อมในห้องสโตร์ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของผู้ร้อง โดยการซ่อมเครื่องวิทยุดังกล่าวไม่ใช่งานในหน้าที่ของผู้คัดค้าน แม้จะเป็นการทำนอกเวลาทำงาน ก็เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านมานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share