แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ใช้บังคับแก่ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าผู้บริโภคตามมาตรา 3 ที่ว่า “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้เข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้การเข้าทำสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปโดยมิใช่เพื่อการค้า ทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด จึงเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ล้วนแต่ทำสัญญาร่วมลงทุนกับโจทก์เพื่อประโยชน์ในการนำเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากโจทก์ไปใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ทางการค้า และไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันคืนเงินจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 6,545,034.24 บาท และค่าตอบแทนร้อยละ 20 ของต้นเงินจำนวน 25,000,000 บาท คิดเป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 572,054.79 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 37,117,089.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 15 และที่ 16 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 12,500,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2546 ของต้นเงินจำนวน 2,500,000 บาท นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 และของต้นเงินจำนวน 10,000,000 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยที่ 13 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 15 ที่ 16 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามหนังสือรับรอง ตามลำดับ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2546 โจทก์กับบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 รวม 3 ฝ่าย ทำข้อตกลงร่วมทุน ตกลงให้โจทก์เข้าช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการเข้าถือหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทจำเลยที่ 1 จะออกใหม่ทั้ง 500,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 50,000,000 บาท และเพื่ออนุวัตรการตามข้อตกลงร่วมทุน ทั้งสามฝ่ายจึงตกลงทำสัญญาร่วมลงทุน ด้วย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ให้โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 50,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 300,000,000 บาท เพื่อให้บริษัทจำเลยที่ 1 ใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง โดยจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินที่โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวไปใช้ในการก่อสร้างอาคารโรงงานและต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอื่นๆ ในสัญญาร่วมลงทุนด้วย มิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา หลังจากทำสัญญาร่วมลงทุนแล้ว โจทก์ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 เป็นเงิน 12,500,000 บาท วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นเงิน 2,500,000 บาท และวันที่ 16 ตุลาคม 2546 เป็นเงิน 10,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,000,000 บาท ปรากฏหลักฐานตามเช็ค ใบสำคัญจ่าย และหนังสือมอบอำนาจ ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8020 ตำบลหนองไร่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ดินที่จะใช้สร้างโรงงานของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทไทยผลิตภัณฑ์สับปะรดและผลไม้อื่น ๆ จำกัด ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน และได้รับอนุมัติจากโจทก์ตามหนังสือ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นหนังสือฉบับเดียวกันกับหนังสือ ให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างองค์กร โดยให้จำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ถอนหุ้นจากบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ตามที่จำเลยที่ 1 ขอ อย่างไรก็ตามโจทก์มีหนังสือ ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2548 ถึงจำเลยทั้งยี่สิบบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุน และเรียกเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนที่ชำระไปแล้วจำนวน 25,000,000 บาท ดังกล่าวคืนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งยี่สิบผิดสัญญาไม่ซื้อหุ้นดังกล่าวคืนภายในเวลาที่กำหนดและไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนอีกหลายประการตามที่จำเลยทั้งยี่สิบทราบอยู่แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ขอให้โจทก์ทบทวนการยกเลิกสัญญาร่วมลงทุน และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นจำเลยที่ 7 ยังร้องเรียนโจทก์ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้วยดังที่ได้ความจากหนังสือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รวม 2 ฉบับ ในที่สุดโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงจำเลยทั้งยี่สิบบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนอีกครั้ง และเรียกให้จำเลยทั้งยี่สิบชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมกับผลตอบแทนเป็นเงิน 5,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2549 และฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549
จำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ฎีกาเป็นประการแรกว่า โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาร่วมลงทุน เป็นนิติกรรมที่ก่อและสงวนสิทธิระหว่างคู่สัญญาสามฝ่าย คือ โจทก์ บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีหนังสือ ถึงจำเลยทั้งยี่สิบบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนและใช้สิทธิที่จะได้รับการเยียวยา โดยอ้างสัญญาร่วมลงทุนข้อ 8.1 และข้อ 9 เรียกให้จำเลยทั้งยี่สิบชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนที่โจทก์ชำระไปแล้วพร้อมกับผลตอบแทนรวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท แก่โจทก์ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดในหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยทั้งยี่สิบไม่ปฏิบัติตาม ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือ ขอให้โจทก์ทบทวนการยกเลิกสัญญาร่วมลงทุน และในเวลาใกล้เคียงกันนั้น จำเลยที่ 7 ก็ร้องเรียนโจทก์ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอีกด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญาร่วมลงทุน โจทก์จึงมีสิทธิหรืออำนาจฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ส่วนข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 อีกข้อหนึ่งที่ว่า มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า โจทก์ต้องเสนอขายหุ้นคืนแก่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ก่อน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ขายหุ้นคืนให้แก่ผู้ใด อีกทั้งโจทก์ยังไม่เสนอขายหรือฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ผู้หนึ่งผู้ใดหรือรวมทั้งสามคนมีหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนข้อ 3.3 ที่ต้องซื้อหุ้นคืนจากโจทก์ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งแล้วนั้น มิใช่เป็นกรณีที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนดังที่ฎีกาจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 อ้าง ฎีกาของจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 15 ที่ 16 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ฎีกาทำนองเดียวกับที่ให้การและอุทธรณ์ในประการที่สองว่า สัญญาร่วมลงทุนข้อ 3.3 และข้อ 6.3 ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และอ้างเพิ่มเติมด้วยว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 15 และที่ 16 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มีสิทธิฎีกาปัญหาข้อนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ใช้บังคับแก่ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพเท่านั้น แม้ฟ้องโจทก์รับว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าผู้บริโภคตามมาตรา 3 ที่ว่า “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้เข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้การเข้าทำสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปโดยมิใช่เพื่อการค้า ทรัพย์สิน บริการหรือประโยชน์อื่นใด จึงเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ล้วนแต่ทำสัญญาร่วมลงทุนกับโจทก์เพื่อประโยชน์ในการนำเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากโจทก์ไปใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ทางการค้า และไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว ทั้งวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากโจทก์ไปใช้ในการประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังกล่าว รวมทั้งการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะทำให้การนั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ฎีกาของจำเลยที่ 15 ที่ 16 และฎีกาของจำเลยที่ 17 ถึงที่ 20 ประการที่สองนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ให้จำเลยทั้งยี่สิบใช้ดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 10,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเงินนั้นไป แต่เมื่อพิพากษา กลับพิพากษาให้ใช้ดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ