คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลเพิกถอนผู้จัดการมรดกไว้ 2 ประการคือผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร ดังนั้น หากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตาย ก็เป็นเหตุที่โจทก์จะร้องขอต่อศาลตามมาตราดังกล่าวได้ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนตามคำร้องขอของโจทก์หรือไม่ ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ การเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหาได้มีผลเฉพาะต่อโจทก์จำเลยไม่ แต่ยังมีผลกระทบถึงผลประโยชน์ของบรรดาทายาทอื่นซึ่งมิได้เป็นคู่ความด้วย หาใช่เมื่อจำเลยผิดสัญญาแล้วศาลจะต้องสั่งเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยทั้งสามและนายบุญทวี ไวทยานุวัตติเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของร้อยเอกหลวงไวรณการ ระหว่างจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกพิพาทฟ้องร้องกันเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาครั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2525 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาททั้งหมด โดยให้ผู้จัดการมรดกนำเงินสดในบัญชีเงินฝากกองมรดกมาแบ่งปันกันภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2525ใส่ชื่อผู้จัดการมรดกทั้งหมดในโฉนดที่ดินของกองมรดกภายในวันที่19 พฤศจิกายน 2525 ทำบัญชีทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้เสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2525 แล้วประมูลระหว่างทายาทนำเงินมาแบ่งกันภายใน 3 วัน ให้เพิ่มชื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินของกองมรดกในธนาคารตั้งแต่เดือนมกราคม 2526ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามถอนฟ้องคดีอาญากันภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน2525 ฝ่ายใดผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งยกเป็นเหตุเพิกถอนการเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อผู้จัดการมรดกทั้งหมดลงชื่อในโฉนดที่ดินของกองมรดกและถอนฟ้องคดีอาญาแล้วจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาและขัดขวางการจัดการมรดกของโจทก์ทั้งทุจริตยักยอกเงินของกองมรดก กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 3ไม่ยอมสั่งจ่ายเงินจากบัญชีมรดกนำมาแบ่งกัน รายได้ของกองมรดกซึ่งคณะผู้จัดการมรดกมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เก็บและนำส่งเข้าฝากในธนาคาร จำเลยที่ 1 มิได้นำเอกสารและบัญชีรายได้ของกองมรดกตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2525 ไปแสดงในวันนัดประชุมว่าเก็บรวบรวมรายได้ดังกล่าวได้เป็นเงินเท่าใดจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ไปร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์และจัดการประมูลทรัพย์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นจำเลยทั้งสามไม่ให้ความยินยอมให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในบัญชีของกองมรดก ทั้งไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ โจทก์มีหนังสือเชิญจำเลยทั้งสามประชุมผู้จัดการมรดกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ไป เป็นการขัดขวางการจัดการมรดก นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบียดบังยักยอกเงินมรดกจำนวน 32,657.40 บาท อ้างว่าชำระค่าภาษีแทนเจ้ามรดกซึ่งไม่เป็นความจริงและโดยไม่ได้ขออนุมัติหรือได้รับความเห็นชอบจากผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกองมรดกอันเป็นเท็จด้วยการนำรายจ่ายซึ่งมิใช่เป็นการจ่ายเกี่ยวกับกองมรดกเข้ามารวมไว้และจ่ายออกไปจากกองมรดกโดยมิชอบนอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังเอาเงินของเจ้ามรดกไปโดยมิชอบจำนวน570,000 บาท ขอให้ถอนจำเลยทั้งสามออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกแต่งตั้งโจทก์นายบุญทวี ไวทยานุวัตติ และนายกฤตย์ ไวทยานุวัตติเป็นผู้จัดการมรดก และถอนชื่อจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 18174, 4788, 7014 และ 756 กับให้มอบโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการถอนชื่อจากโฉนดให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงยุติคดีอาญาซึ่งโจทก์และจำเลยต่างฟ้องกล่าวโทษกัน ทั้งได้ตกลงระงับข้อพิพาทในทางแพ่งด้วย เพื่อร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งเงินมรดกของผู้ตายที่ฝากไว้กับธนาคารให้เสร็จสิ้นไปชั้นหนึ่งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เป็นบันทึกเลิกคดีกันเพื่อร่วมมือกันจัดการมรดกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้จัดการมรดกตามกฎหมายโดยเก็บรักษาและจ่ายเงินตามมติของที่ประชุมคณะผู้จัดการมรดก โจทก์ฟ้องคดีนี้เนื่องจากไม่ยอมให้หักเงินที่นายบุญทวียืมเพื่อพยุงฐานะระหว่างรอการขายที่ดินเดือนละ 3,000 บาท เงินค่าใช้จ่ายดูแลรักษาบ้าน ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าภาษีเงินเดือน บำนาญ และรายได้ของเจ้ามรดก ค่ารักษาพยาบาลเจ้ามรดก ค่าฌาปนกิจศพเจ้ามรดกเงินที่เจ้าหนี้ของนายบุญทวีขอให้กรมบังคับคดีอายัดไว้ในธนาคารค่าจ้างทนายความที่ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้ เมื่อปีพ.ศ. 2523 โจทก์กับนายบุญทวีร่วมกันลอบทำสัญญาจะขายที่ดิน3 แปลงของกองมรดก โดยรับเงินมัดจำล่วงหน้าในราคาเพียง 26,000,000บาทเศษ ความจริงที่ดินดังกล่าวปัจจุบันราคาประมาณ 40,000,000 บาทส่วนทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้นเป็นของไม่มีราคา บางอย่างก็เป็นของบุคคลอื่น เรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยไม่ไปดำเนินการให้โจทก์มีส่วนร่วมในการถอนเงินฝากจากธนาคารก็เนื่องจากในวันที่โจทก์นัดหมายนั้นจำเลยบางคนติดธุระขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับมอบอำนาจจากผู้จัดการมรดกให้มีสิทธิลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินของกองมรดกจึงไม่อาจทุจริตยักยอกเงินจากบัญชีเงินฝากของกองมรดกจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือข้อตกลงร่วมกันจัดการมรดก ในการนัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจำเลยที่ 2 ก็ไปร่วมแต่เห็นว่าบัญชีทรัพย์ไม่ถูกต้อง จึงไม่ลงชื่อ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1และที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดก ให้ยกคำขอข้อนี้ของโจทก์เสียส่วนข้อที่โจทก์ขอให้ตั้งโจทก์ นายบุญทวีและนายกฤตย์ ไวทยานุวัตติเป็นผู้จัดการมรดกของร้อยเอกหลวงไวรณการนั้น โจทก์และนายกฤตย์ ไวทยานุวัตติ เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลอยู่แล้วที่โจทก์มีคำขอมาก็เฉพาะกรณีที่ศาลได้สั่งถอนจำเลยที่ 1 และที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลยกคำขอข้อนั้นของโจทก์เสียแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งตามที่โจทก์ขอให้ยกคำขอดังกล่าวของโจทก์เสียด้วย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์จำเลยทั้งสามและนายบุญทวี ไวทยานุวัตติ เป็นผู้จัดการมรดกของร้อยเอกหลวงไวรณการแล้วที่ประชุมของผู้จัดการมรดกได้มีมติให้จำเลยที่ 1 และที่ 3เป็นผู้มีอำนาจเบิกเงินของกองมรดกที่ฝากไว้กับธนาคาร แต่การจัดการมรดกไม่ราบรื่นเนื่องจากผู้จัดการมรดกเกิดการขัดแย้งฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญากันหลายคดี ต่อมาในวันที่ 12พฤศจิกายน 2525 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่13822/2524 ของศาลชั้นต้น โจทก์ จำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 2ทนายจำเลยที่ 3 และทนายนายบุญทวี ไวทยานุวัตติ ได้ทำสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เสนอต่อศาลชั้นต้น เป็นการระงับข้อพิพาททั้งหมด สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลได้อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1และที่ 3 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า สัญญาที่ผู้จัดการมรดกทำกันไว้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2525 (เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2)ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดสัญญาจึงต้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามสัญญานั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลเพิกถอนผู้จัดการมรดกไว้ 2 ประการคือผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรดังนั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดสัญญาดังโจทก์อ้างจริงก็เป็นเหตุที่โจทก์จะร้องขอต่อศาลตามความในมาตราดังกล่าวได้แต่การที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตามคำร้องขอของโจทก์หรือไม่ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่า มีเหตุที่สมควรหรือไม่ทั้งนี้เนื่องจากการเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหาได้มีผลเฉพาะต่อโจทก์จำเลยไม่ แต่ยังมีผลกระทบถึงผลประโยชน์ของบรรดาทายาทอื่นซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย หาใช่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดสัญญาที่ทำกับโจทก์แล้วศาลจะต้องสั่งเพิกถอนจำเลยดังกล่าวออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไปไม่”
พิพากษายืน

Share