คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เมื่อเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าทรัพย์ใดเป็นมรดกหรือไม่ ในการวินิจฉัยเช่นนี้จะนำกฎหมายตามลัทธิศาสนาอิสลามมาใช้บังคับหาได้ไม่
( อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2494 )
—————————————-
โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทของเจ้ามรดกและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอันมีที่ดินและบ้านตามกฎหมายอิสลาม นางแวบูงอมารดาจำเลยกับจำเลยได้ตกลงทำสัญญายอมแบ่งปันมรดกดังกล่าวออกเป็นส่วนสัดตามสิทธิของทายาทแต่ละคนและตามลัทธิศาสนาอิสลามแล้ว ต่อมามารดาจำเลยตาย โจทก์เรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์ตามที่มารดาจำเลยได้ทำสัญญาไว้ จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ โจทก์จำเลยเป็นชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดปัตตานี และเจ้ามรดกก็นับถือศาสนาอิสลาม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งมีราคา 104,000 บาท ตามสัญญายอมให้แก่โจทก์คิดเป็นเงิน 72,000 บาท นอกนั้นตกเป็นของจำเลย ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างทายาท หากประมูลไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วน
จำเลยทั้งสี่ให้การใจความว่า นางแวบูงอมารดาจำเลยและจำเลยทุกคนไม่เคยยินยอมแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ดังฟ้อง ไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือแบ่งทรัพย์ หากจะฟังว่านางแวบูงอได้ทำสัญญาตามฟ้องไว้จริงก็เป็นเรื่องถูกบังคับให้ลงชื่อในขณะที่ป่วยสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ หนังสือสัญญานั้นใช้ไม่ได้ตามกฎหมายขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 และขัดต่อความสงบเรียบร้อย จำเลยไม่เคยตกลงจะแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวร่วมกันมา โจทก์ทั้งหลายไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกทั้งหมด คดีนี้ไม่ใช่คดีมรดก และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ในวันชี้สองสถานคู่ความรับกันว่า ทรัพย์มรดกที่พิพาทมีที่ดิน 6 แปลง เป็นที่มีโฉนด 3 แปลง และมี ส.ค.1 3 แปลง ล้วนเป็นชื่อนางแวบูงอทั้งหมด ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า
1. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
2. ทรัพย์ที่พิพาทเป็นมรดกร่วมกันระหว่างพวกโจทก์และนางแวบูงอกับจำเลย ซึ่งจะต้องแบ่งให้โจทก์และแบ่งตามสัญญายอมหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงยังไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 และเชื่อว่าทายาทของนางซีตีฮาวอได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2510 และ 2511 ตามเอกสารหมาย จ.1 จริง กรณีไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ดังจำเลยต่อสู้ ข้อพิพาทสำหรับที่ดินอีก 4 แปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 2512 และที่มี ส.ค.1 นั้น ข้อนี้ดะโต๊ะยุติธรรมชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายอิสลามว่าเป็นเรื่องการฟ้องขอแบ่งมรดก แต่ละฝ่ายจะต้องมีพยานนอกจากตัวความมาสืบอย่างน้อยเป็นผู้ชาย 2 คน หรือผู้หญิง 4 คน หรือผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 2 คน จึงจะรับฟังได้ ฝ่ายจำเลยมีพยานมาสืบไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้ตามกฎหมายอิสลาม ต้องฟังตามพยานโจทก์ว่า มีมรดกที่จะต้องแบ่งให้โจทก์อีก 4 แปลงตามส่วนสัดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอิสลาม แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่จะรับฟังพยานได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องกฎหมายลักษณะพยาน ไม่ใช่เรื่องครอบครัวและมรดก จะยกเอากฎหมายอิสลามมาบังคับในการรับฟังพยานไม่ได้ ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาร ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 และ 4 ศาลชั้นต้นจึงฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาท 4 แปลงนอกเหนือจากสัญญายอมเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนางแวบูงอ พิพากษาให้แบ่งที่ดินมรดก 2 แปลงให้แก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือแบ่งกันเองไม่ได้ ก็ให้ประมูลราคาระหว่างกันเองหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกัน ข้อเรียกร้องของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าที่พิพาท 4 แปลง เป็นมรดกซึ่งทายาทครอบครองร่วมกันมา จำเลยอุทธรณ์ว่าหนังสือแบ่งทรัพย์ตามเอกสาร จ.1 ทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกใช้บังคับได้ และที่ดินพิพาท 4 แปลงนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวไม่ใช่มรดกของเจ้ามรดก และวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้เป็นเรื่องมรดก ศาลจะต้องฟังตามคำวินิจฉัยของดะโต๊ะยุติธรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าทรัพย์ใดเป็นมรดกหรือไม่ และการวินิจฉัยเช่นนี้จะนำกฎหมายตามลัทธิศาสนาอิสลามมาใช้บังคับแก่กรณีหาได้ไม่ ดังที่ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาไว้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2494 ระหว่างนางแวสะลาเมาะ โจทก์ นายแวซง บินฮาวาแด จำเลย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมสมควรให้เป็นพับ.
(ชลอ จามรมาน – เฉลิม กรพุกกะณะ – พิสัณห์ ลีตเวทย์)
ศาลจังหวัดปัตตานี – นายเคียง บุญเพิ่ม
ศาลอุทธรณ์ – นายมงคล วัลยะเพ็ชร์

Share