แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นคนเชื้อชาติจีนเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ได้ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยมิได้ประสงค์จะถือสัญชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ.2491 ตลอดมาจนพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508ใช้บังคับซึ่งมาตรา 21 บัญญัติให้ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย ดังนี้ บทบัญญัติแห่งมาตรา 21 ดังกล่าวจึงมีผลถึงจำเลยซึ่งถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แม้มาตรา 21 ดังกล่าวจะมิได้บัญญัติความว่า ให้ขาดจากสัญชาติไทย ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับก็ตามก็ไม่เป็นผลให้แตกต่างกันอย่างไร เมื่อจำเลยไม่ต่อใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จำเลยย่อมมีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติจีน สัญชาติจีนไหหลำ ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวออกให้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2491 และได้หมดอายุลงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2516 จำเลยมีหน้าที่ต้องขอต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของจำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันหมดอายุ แต่จำเลยไม่ได้แจ้งขอต่ออายุแต่อย่างใด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 13, 20 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทมาตราที่อ้างท้ายฟ้องให้ปรับ 500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา และจำเลยมิได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว พ.ศ. 2516 จริง แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่จำเลยได้ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาตั้งแต่พ.ศ. 2491 แสดงว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะถือสัญชาติไทย ต่อมาจำเลยได้เสียสัญชาติไทยไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 5 เพราะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เมื่อจำเลยกลับได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 ซึ่งได้ยกเลิกมาตรา 16 ทวิ นั้นแล้วจำเลยก็ยังถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตลอดมาจนพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ใช้บังคับซึ่งมาตรา 21 บัญญัติให้ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทย เพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย บทบัญญัติแห่งมาตรา 21 ดังกล่าวจึงมีผลถึงจำเลยซึ่งถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแม้มาตรา 21 ดังกล่าวจะมิได้บัญญัติความว่า “ให้ขาดจากสัญชาติไทย ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ก็ไม่เป็นผลให้แตกต่างกันอย่างไร ดังฎีกาของจำเลย จำเลยไม่ต่อใบอนุญาตประจำตัวคนต่างด้าว จำเลยย่อมมีความผิด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน