คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน มีข้อตกลงว่าค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ผู้จะซื้อเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้นกรณีไม่เป็น การขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน แต่เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างก็เป็นบริษัทจำกัด ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจที่ดินโดยเฉพาะในการทำ สัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์และจำเลยทั้งสองจะต้องรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ผู้ขายที่ดินจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจะต้องไปชำระ ณ สรรพากร มิใช่หัก ณ ที่จ่าย ที่สำนักงานที่ดิน ดังนั้น หากคู่กรณี มีเจตนาจะให้จำเลยทั้ง สองชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายให้ชัดแจ้ง เพราะค่าภาษีดังกล่าว จะต้องไปชำระต่างหากจากที่สำนักงานที่ดินอีกทั้งถ้ามี ข้อผูกพันดังกล่าวจริง โจทก์คงไม่โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองโดยง่าย โดยที่ยังมิได้รับชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะก่อน การที่ โจทก์อ้างว่าจะต้องคำนวณค่าภาษีธุรกิจเฉพาะก่อนจึงไม่น่า เป็นไปได้ เพราะตามประมวลรัษฎากรฯ หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ มาตรา 91/6 ได้ระบุอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินมาโดยตลอด จึงน่าจะรู้เกี่ยวกับอัตราภาษีดังกล่าวและสามารถที่จะคำนวณ ได้ว่าจะต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเท่าใด ฉะนั้น คำว่า “ภาษี” ตามสัญญาจึงไม่รวมถึงค่า “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงจะซื้อที่ดินรวม 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์เป็นจำนวนเงิน 27,000,000 บาท มีข้อตกลงว่า ค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้ามีจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกทั้งสิ้น ต่อมาโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองและรับเงินส่วนที่เหลือจากจำเลยทั้งสองครบ แต่จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นจำนวนเงิน 960,333.06 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็นผู้ชำระ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงได้ออกเงินชำระแทนจำเลยทั้งสองไปก่อน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,080,374.68 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 960,333.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,080,374.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 960,333.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 โดยมีข้อตกลงว่า ค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าธรรมเนียมค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้ามี ผู้จะซื้อเป็นผู้ออกทั้งสิ้นต่อมา โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1และโจทก์ได้รับเงินส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ครบถ้วน ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์ได้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวนเงิน 960,333.06 บาท แก่สรรพากรเขตบางขุนเทียนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2537โจทก์ได้ทวงถามค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 906,333.06 บาท ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันว่าค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้ามี จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้จะซื้อจะเป็นผู้ออกทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์และจำเลยทั้งสองโต้เถียงกันว่า คำว่า “ภาษี” ตามสัญญาจะมีความหมายรวมถึง “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างก็เป็นบริษัทจำกัด ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจที่ดินโดยเฉพาะ ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินคดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะต้องรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ผู้ขายที่ดินจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจะต้องไปชำระ ณ สรรพากรเขตบางขุนเทียน มิใช่หัก ณ ที่จ่ายที่สำนักงานที่ดิน ดังนั้นหากคู่กรณีมีเจตนาจะให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายให้ชัดแจ้งเพราะค่าภาษีดังกล่าวจะต้องไปชำระต่างหากจากที่สำนักงานที่ดินอีกทั้งถ้ามีข้อผูกพันดังกล่าวจริง โจทก์คงไม่โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองโดยง่าย โดยที่ยังมิได้รับชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะก่อนที่โจทก์อ้างว่าจะต้องคำนวณค่าภาษีธุรกิจเฉพาะก่อนก็ไม่น่าเป็นไปได้เพราะตามประมวลรัษฎากร หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ มาตรา 91/6ได้ระบุอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วโจทก์และจำเลยทั้งสองดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินมาโดยตลอดจึงน่าจะรู้เกี่ยวกับอัตราภาษีดังกล่าวและสามารถที่จะคำนวณได้ว่าจะต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเท่าใดข้ออ้างของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังได้ว่า คำว่า”ภาษี” ตามสัญญาไม่รวมถึงค่า “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share