แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงพิจารณาพิพากษาเมื่อศาลแขวงไต่สวนมูลฟ้องแล้วว่าไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ย่อมอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 22 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
แม้ศาลชั้นต้นจะได้กล่าวความไว้ในคำพิพากษามีข้อความต่าง ๆ ดังที่โจทก์อ้างว่าเป็นเรื่องนอกสำนวนหรือมีข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวนก็ดีเมื่อข้อความเหล่านั้นไม่เป็นข้อความสำคัญอันเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้อาศัยเฉพาะความตามที่โจทก์ยกขึ้นอ้างนั้นแต่ประการเดียวเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานฉ้อโกงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓, ๙๔
ศาลแขวงพระนครใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่โจทก์สืบมา หาใช่เป็นเรื่องจำเลยร่วมกันวางแผนการณ์มาแต่เริ่มแรกฉ้อโกงโจทก์ไม่คดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เพราะเหตุเป็นข้ออุทธรณ์เถียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๒๒
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอให้รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อเป็นการเถียงข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่ว่า มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ต้องใช้กับกรณีของคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาจริงหรือมีคำตัดสินแล้วเท่านั้นแต่สำหรับคดีนี้ ที่ศาลยกฟ้องโจทก์หาใช่เป็นคำตัดสินไม่ เป็นเพียงคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลแขวงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่มีมูลนั้นเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้ว กล่าวคือวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ตามที่โจทก์นำสืบมา แม้ถึงหากจะฟังว่าโจทก์ได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปตามคำเรียกร้องของจำเลย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องให้ตามข้อที่ได้ตกลงกันหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวงเพื่อฉ้อโกงโจทก์ไม่ ส่วนข้อที่ว่ามาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ที่กล่าวถึงคำพิพากษา โจทก์เห็นว่าหมายถึงคำพิพากษาในชั้นพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างนั้นหาถูกต้องไม่ เพราะศาลแขวงได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ในข้อเท็จจริงแล้ว การพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลอาจทำได้ไม่ว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณา และในมาตรา ๒๒ นั้นก็มิได้แบ่งแยกว่าการอุทธรณ์ไม่ได้จะต้องเป็นคำพิพากษาเฉพาะกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งว่าคดีมีมูลแล้วเท่านั้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์มีข้อกฎหมาย โดยอุทธรณ์ของโจทก์ ข้อ ๔ (๑) (๒) และ (๓) เป็นข้อกฎหมาย เพราะศาลชั้นต้นหยิบยกเอาข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นวินิจฉัย และวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกับที่ปรากฏในสำนวนทั้งมิได้หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยให้ครบถ้วนกระบวนความ ศาลฎีกาได้ตรวจดูถ้อยคำในท้องสำนวนในข้อที่โจทก์ฎีกาขึ้นมานี้โดยละเอียดแล้ว เห็นว่า ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะได้กล่าวความไว้ในคำพิพากษามีข้อความต่าง ๆ ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าเป็นเรื่องนอกสำนวนหรือมีข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากสำนวนก็ดีแต่ข้อความเหล่านั้นหาเป็นข้อความสำคัญอันเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะไม่ทั้งศาลแขวงพระนครใต้ยังได้พิเคราะห์ถึงพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ส่งอ้างไว้ประกอบการซักค้านพยานโจทก์และเหตุผลโดยทั่วไป เห็นว่าหลักฐานในคดียังไม่พอที่จะลงโทษจำเลยทางอาญาได้ต่างหากด้วยเหตุนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้าม ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย