คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 836/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันระบุว่ามิให้ใช้บังคับแก่งานเกษตรกรรมซึ่งได้แก่งานเพาะปลูก งานประมง ป่าไม้ และ เลี้ยงสัตว์ สำหรับงานเกษตรกรรมหรืองานเพาะปลูกนั้น เกษตรกรผู้ประกอบการดังกล่าวย่อมมุ่งหวังถึงผลิตผลของพืชที่เพาะปลูกลงเป็นสำคัญ เมื่อปลูกยางพาราแล้วมีการกรีดยางก็เป็น การเก็บเกี่ยวผลิตผลจากงานเพาะปลูก ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ การเพาะปลูก ถือได้ว่าการที่จำเลยจ้างโจทก์กรีดยางพาราเป็นการจ้างทำงานเกษตรกรรมซึ่งไม่อยู่ในบังคับ ประกาศกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดซึ่งนอกเหนือไปจากที่ตกลงกันไว้หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขอสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามาน้อยกว่าที่ควรจะได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นการผิดพลาด พลั้งเผลอ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์จึงแสดงว่าไม่มีเหตุสมควรเพื่อความเป็นธรรมที่จะ พิพากษาเกินคำขอ ศาลแรงงานกลางให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทุกสำนวนยื่นบัญชีระบุพยานอ้างพยานร่วมกัน โดยอ้างตัวโจทก์ทุกสำนวนเป็นพยานด้วย การที่โจทก์บางสำนวนเข้าเบิกความเป็นพยานก็เท่ากับเป็นพยานโจทก์ทุกสำนวนด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าถ้อยคำที่โจทก์บางคนดังกล่าวเบิกความเป็นพยานรับฟัง ได้ก็มีผลถึงโจทก์อื่นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกสำนวนยกเว้นสำนวนที่ 30 ถึง 32 เป็นลูกจ้างประจำโจทก์ที่ 30 ถึง 32 เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลย ทำหน้าที่กรีด ยางพารา จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียงคนละ วันละ 40 บาท เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกำหนดไว้วันละ 64 บาท จำเลยยังให้โจทก์ทุกสำนวนยกเว้นโจทก์ที่ 30 ถึง 32 ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกสำนวนโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตยักยอกน้ำยางพาราของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทุกสำนวน

จำเลยทุกสำนวนให้การว่า โจทก์ทุกสำนวนไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยเป็นคนงานชั่วคราวกรีดยางในฤดูกรีดยาง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ตามน้ำหนักของน้ำยางพาราที่กรีดได้เป็นกิโลกรัม จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ครบถ้วนแล้วทุกคนโดยจ่ายเป็นรายวัน นอกจากนี้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งจากเศษยางพาราที่ได้แต่ละวันครึ่งหนึ่งเป็นประจำทุกวันที่กรีดยางได้ โจทก์ทุกสำนวนยักยอกน้ำยางพาราที่กรีดได้ งานที่โจทก์ทุกสำนวนทำเป็นงานด้านเกษตรกรรมจะนำเอากฎหมายว่าด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบังคับไม่ได้ โจทก์ทุกสำนวนไม่มีสิทธิ ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามคำขอท้ายฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามบัญชีท้ายคำพิพากษา

โจทก์และจำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันระบุว่า มิให้ใช้บังคับแก่งานเกษตรกรรมซึ่งได้แก่งานเพาะปลูก งานประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ สำหรับงานเกษตรกรรมหรืองานเพาะปลูกนั้น เกษตรกรผู้ประกอบการดังกล่าวย่อมมุ่งหวังถึงผลิตผลของพืชที่เพาะปลูกลงเป็นสำคัญ เมื่อปลูกยางพาราแล้วมีการกรีดยางก็เป็นการเก็บเกี่ยวผลิตผลจากงานเพาะปลูก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพาะปลูกนั่นเอง จึงถือได้ว่าการที่จำเลยจ้างโจทก์ทุกสำนวนกรีดยางพาราเป็นการจ้างทำงานเกษตรกรรมซึ่งไม่อยู่ในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โจทก์ทุกสำนวนจึงเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดซึ่งนอกเหนือไปจากที่ตกลงกันไว้หาได้ไม่

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ทุกสำนวนได้รับค่าจ้างวันละ 40 บาท และจะนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้บังคับไม่ได้ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าต้องนำอัตราค่าจ้างวันละ 64 บาท มาคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

การที่โจทก์ฟ้องขอสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามาน้อยกว่าที่ควรจะได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นการผิดพลาดพลั้งเผลอ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ตามคำขอ จึงแสดงว่าไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อความเป็นธรรมที่จะพิพากษาเกินคำขอ

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า งานที่จ้างโจทก์ทำนั้นเป็นงานที่ทำตามฤดูกาลโจทก์จึงเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ใช่ลูกจ้างประจำนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ทุกสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯพ.ศ. 2522 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทุกสำนวนเป็นลูกจ้างชั่วคราว จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อจะเลิกจ้างนั้น เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ทุกสำนวนยกเว้นโจทก์ที่ 30 ถึง 32 เป็นลูกจ้างประจำ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้จึงตกไปด้วย

ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทุกสำนวนมิได้เข้าเบิกความ คงมีแต่โจทก์บางคนเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดไปถึงโจทก์คดีอื่นเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทุกสำนวนยื่นบัญชีระบุพยานอ้างพยานร่วมกัน โดยอ้างตัวโจทก์ทุกสำนวนเป็นพยานด้วยการที่โจทก์บางคนเข้าเบิกความเป็นพยานก็เท่ากับเป็นพยานโจทก์ทุกสำนวนด้วยเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าถ้อยคำที่โจทก์บางคนดังกล่าวเบิกความเป็นพยานรับฟังได้ก็มีผลถึงโจทก์อื่นด้วย

พิพากษายืน

Share