คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีก่อน การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนตามคำขอของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งแปดเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งแปดเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ตำบลฉิมพลี (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อผู้คัดค้านที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่าขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 เลขที่ดิน 31 ตำบลฉิมพลี (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 โดยให้ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่โอนให้ถือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งแปดเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งแปดเด็ดขาดในวันที่ 19 มิถุนายน 2550 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ทั้งแปดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 มีผู้รับหนังสือไว้แทนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2546 ตามสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองและใบตอบรับในประเทศ ต่อมาวันที่ 1 และ 4 สิงหาคม 2546 วันที่ 9 และ 12 กันยายน 2546 วันที่ 23 และ 24 ธันวาคม 2547 โจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้ทั้งแปดที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งสองศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งแปดชำระหนี้แก่โจทก์ ตามสำเนาคำฟ้องและคำพิพากษา เดิมผู้คัดค้านทั้งสองเป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกันสองคน ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ได้จดทะเบียนหย่า ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า มีบันทึกข้อตกลงการหย่าว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ยกกรรมสิทธิ์ส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ตำบลฉิมพลี (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 75 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ให้รถยนต์ 2 คัน แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ส่วนบุตรสองคนให้อยู่ในความปกครองของผู้คัดค้านที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่ 1 จะส่งเสียค่าเลี้ยงดูเดือนละ 20,000 บาท ในปีแรก และเดือนละ 30,000 บาท ในปีต่อๆ ไป จนกว่าบุตรทั้งสองจะจบการศึกษา ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงการหย่า ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ตำบลฉิมพลี (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 2,500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2549 โจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองที่ศาลแพ่งธนบุรีขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 โดยบรรยายในคำฟ้องว่าทราบเหตุแห่งการขอให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2549 ตามสำเนาคำฟ้อง เนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 เด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนผู้คัดค้านที่ 1 และขอให้จำหน่ายคดี ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2550
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองข้อแรกมีว่า การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 ของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ตำบลฉิมพลี (ตลิ่งชัน) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสอง อันเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 ของศาลแพ่งธนบุรี การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 ของศาลแพ่งธนบุรี ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองข้อต่อไปมีว่า คำร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องคดีใหม่เท่านั้น ฉะนั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 ตามคำขอของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2550 ขณะที่คดีหมายเลขแดงที่ 2014/2550 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้นเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share