คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้นั้น จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวและแบบควบคุมตัว แบบไม่เข้มงวด แต่จำเลยยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และหลบหนีจากสถานที่เพื่อการฟื้นฟู กรณีถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วน ตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติด ยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตาม มาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด และกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 เวลากลางคืนหลังเที่ยง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้วินิจฉัยว่า จำเลยอยู่ในระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จึงให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 2716/2554 เอกสารท้ายคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 คดีได้ความว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 และรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยเคยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมาแล้ว รวม 2 คดี คดีที่ 1 จำเลยกระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัว โดยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในโปรแกรมการฟื้นฟูของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือนโดยกำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใน 3 เดือนแรกและเดือนละ 2 ครั้ง ใน 3 เดือนที่เหลือ ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และทำงานบริการสังคม 20 ชั่วโมง ตามคำวินิจฉัยที่ 1621/2552 ระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูดังกล่าวจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอีกจนถูกจับกุมดำเนินคดี และคดีที่ 2 จำเลยกระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัว โดยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในโปรแกรมฟื้นฟูของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน โดยกำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และทำงานบริการสังคม 20 ชั่วโมง ตามคำวินิจฉัยที่ 742/2553 ต่อมาคณะอนุกรรมการได้ปรับแผนการฟื้นฟูเป็นแบบควบคุมตัว แบบไม่เข้มงวด ที่กองพลทหารราบที่ 5 ค่ายเทพกษัตรีศรีสุนทร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 120 วัน จากนั้นให้เข้าสู่โปรแกรมการปรับตัวสู่สังคม เป็นเวลา 60 วัน ตามคำวินิจฉัยที่ 721/2553 แต่จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ครบถ้วนเนื่องจากหลบหนีออกจากสถานที่เพื่อการฟื้นฟู พนักงานเจ้าหน้าที่ออกติดตามและนัดให้จำเลยมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 มกราคม 2554 แต่จำเลยไม่มาพบ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงมีคำวินิจฉัยว่าผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ ให้ส่งคดีไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้นั้น จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวและแบบควบคุมตัว แบบไม่เข้มงวด แต่จำเลยยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และหลบหนีจากสถานที่เพื่อการฟื้นฟู กรณีถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด และ กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share