แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท
อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 27459, 27460 และ 27461 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางตีเส๊าะหรือติเสาะ ส่วนจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางเส๊าะก่อนเจ้ามรดกจะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดทั้งสาม ผู้ร้องสอดทั้งสามแบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดและทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยจำเลยไม่เคยเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2531 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยทราบดีว่าไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแต่มีเจตนาทุจริตไปร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก โดยที่ผู้ร้องสอดทั้งสามไม่ทราบ หลังจากนั้นจำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท ฉบับเจ้าของที่ดินสูญหายซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องสอดที่ 1เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงออกใบแทน (น.ส. 3 ก.) ให้ ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 จำเลยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเอง จากนั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่นายอนันต์ และมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเวลาต่อมาอีกหลายรายการ โจทก์เป็นผู้รับโอนการขายฝากจากนางจริยา เป็นรายสุดท้าย โดยโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่ามีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์อยู่หรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แต่ประการใด โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเมื่อปี 2550 จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดิน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องสอดทั้งสามไปเป็นหลักฐานในการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินรวม 3 แปลง โดยแต่ละแปลงมีเนื้อที่เท่ากับส่วนที่ผู้ร้องสอดแต่ละคนครอบครอง ในปี 2552 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทและจดทะเบียนแบ่งแยกให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 2 และที่ 3 ได้ เนื่องจากจำเลยขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอของโจทก์หรือพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินตามฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอดทั้งสาม จึงจำเป็นที่ผู้ร้องสอดทั้งสามจะร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย ขอให้รับคำร้องสอดและพิพากษายกฟ้องโจทก์ กับให้เพิกถอนใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท และรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ได้กระทำภายหลังการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับดังกล่าว และพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 27459, 27460 และ 27461 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นโฉนดที่ดินที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสามเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสาม
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสาม กับให้ผู้ร้องสอดทั้งสามชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
ผู้ร้องสอดทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 685 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ดังกล่าวทุกรายการที่ได้กระทำภายหลังจากการออกใบแทนดังกล่าว และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้องสอดทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงินรวม 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 685 ตำบลนาทวีอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา มีชื่อนายมะเซ็นหรือหมะเซ็น เจ้ามรดก เป็นเจ้าของ ผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางตีเส๊าะหรือติเสาะ ภริยาคนแรก จำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับนางเส๊าะ ภริยาคนที่สอง เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในปี 2531 มีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2541 (ขณะนั้นศาลจังหวัดนาทวีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดียังไม่เปิดทำการ) ต่อมาจำเลยแจ้งว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทสูญหาย ทางราชการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้ หลังจากนั้นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของตนเองแล้วในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยโอนขายต่อไปยังนายอนันต์ จากนั้นมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อ ๆ กันมาจนในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 นางสาวจริยา ในฐานะเจ้าของได้จดทะเบียนขายฝากแก่โจทก์มีกำหนด 6 เดือน ในราคา 2,500,000 บาท และครบกำหนดเวลาไถ่แล้ว ทั้งนี้ การจดทะเบียนแต่ละครั้งดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอาศัยใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตลอดมา ขณะเดียวกันในปี 2550 ทางราชการได้ดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ สำหรับที่ดินพิพาทมีการออกโฉนดที่ดินในนามของเจ้ามรดกโดยแบ่งแยกเป็น 3 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27459, 27460 และ 27461 ในปี 2552 ผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเพื่อจัดการกับที่ดินทั้งสามแปลงศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่อาจจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินทั้งสามแปลงได้ เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ หลังจากนั้นในปี 2553 ผู้ร้องสอดทั้งสามร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาทวี ให้ดำเนินคดีจำเลย พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหาว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาลกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกและผู้ร้องสอดทั้งสามซึ่งเป็นทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษแล้วกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,500,000 บาท แก่ผู้ร้องสอดทั้งสาม คดีถึงที่สุด ผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นฝ่ายเก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกเป็น 3 แปลง อยู่ในปัจจุบัน
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์หรือผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า หากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เจ้ามรดกยกให้ผู้ร้องสอดทั้งสามตั้งแต่เมื่อครั้งเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ โดยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 685 สำหรับที่ดินพิพาท ให้ไว้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ดังที่อ้างมาในคำร้องสอดแล้ว เหตุใดในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ ที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จำเลยจึงมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 685 สำหรับที่ดินพิพาท ฉบับเจ้าของที่ดิน ไปแสดงในการนำเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานผู้ทำการเดินสำรวจ ข้อที่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 3 เบิกความว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นฝ่ายนำเดินสำรวจที่ดินพิพาท จำเลยนำเดินสำรวจที่ดินแปลงอื่นนั้น ก็ขัดแย้งกับที่ปรากฏในใบไต่สวน อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายนำเดินสำรวจที่ดินพิพาทในฐานะที่เป็นทายาทของเจ้ามรดก โดยแสดงบัญชีเครือญาติไว้ที่ด้านหลังบันทึกถ้อยคำ (ทายาทนำเดิน) ระบุเฉพาะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยเท่านั้น ไม่ได้มีผู้ร้องสอดทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใดดังที่ผู้ร้องสอดทั้งสามรับมาในคำแก้ฎีกา ผู้ร้องสอดที่ 3 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์รับว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในใบไต่สวนและบันทึกถ้อยคำประกอบเป็นของจำเลย ข้ออ้างของผู้ร้องสอดทั้งสามจึงเลื่อนลอย ขัดต่อพยานหลักฐาน รับฟังเป็นจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยังนายอนันต์ ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท
อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ผู้ร้องสอดทั้งสามชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกเป็น 3 แปลงตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27459, 27460 และ 27461 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสาม ให้ผู้ร้องสอดทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท