แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์และได้รับอนุญาตให้ลาจนครบกำหนด และมาทำงานแล้ว ก็ตาม หากจำเลยสงสัยว่าโจทก์ป่วยจริงหรือไม่หรือใช้สิทธิลาป่วยไม่สุจริต ก็ชอบที่จะสั่งให้โจทก์ไปตรวจกับ แพทย์อื่นซึ่งจำเลยจัดให้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ป่วยจริงหรือไม่ หากการตรวจปรากฏว่าโจทก์ป่วยจริงและใช้สิทธิ ลาป่วยโดยสุจริตก็จะเป็นผลดีแก่โจทก์ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานที่มีเหตุผลชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โจทก์ต้องปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกรณีไม่ร้ายแรง จำเลยได้มีหนังสือตักเตือนโจทก์ และยืนยันคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามโจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงลงโทษให้พักงานโจทก์ 11 วัน และยืนยันให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอีก เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจำเลยจึงมีสิทธิออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย จึงเป็นคำสั่งที่ ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) และเป็นการปฏบัติถูกต้องตามขั้นตอนของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วและคำสั่งดังกล่าวถือได้ว่าไม่ใช้คำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อจำเลยปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนในการลงโทษตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างกรณีพักงานให้แก่โจทก์ ส่วนเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และไม่เข้าด้วยกรณีตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เพราะโจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกระทำความผิด และเพราะฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย โดยที่จำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้ว ซึ่งมีผลไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับทราบหนังสือเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) และข้อ 45 จำเลยจึง ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการทอผ้าและปั่นด้าย ก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตรา สุดท้ายเดือนละ ๖,๓๗๗ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๖๗๙ บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อ้างเหตุว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฝ่าฝืน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขาดงานสามวันทำงานติดต่อกันโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ลาป่วยเท็จ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ล่าป่วยเกิน ๔๕ วันในรอบปี และกระทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทั้งไม่ชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ ทั้งเป็นการเลิกจ้างในระหว่างมีการเจรจาข้อเรียกร้อง จึงฝ่าฝืน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ ๑๑ วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง อ้างว่าโจทก์ขัดคำสั่งไม่ไปตรวจรักษาอากรป่วยกับแพทย์ที่จำเลยกำหนด ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานแก่โจทก์ ๒,๕๘๗ บาท จำเลยได้หักค่าจ้างในวันที่โจทก์ลากิจ อ้างว่าเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ก่อนถูกเลิกจ้าง โจทก์ทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ แต่จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๔๔,๖๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย ๔๒,๓๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างกรณีพักงาน ๒,๕๘๗ บาท ค่าจ้างกรณีลากิจ ๑,๔๑๑ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓,๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างในวันทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๑ ถึง ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จำนวน ๑,๑๕๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์มีวันเข้าทำงาน ได้รับค่าจ้าง ค่าครองชีพ มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวัน ๑๕ และวันสุดท้ายของเดือนตามฟ้องจริง จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์กรณีที่โจทก์ลากิจ ขาดงาน และล่าป่วยมาแล้ว ๓๙ วัน ต่อมา จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปตรวจร่างกาย แต่โจทก์ไม่ไปตามคำสั่ง จำเลยจึงลงโทษโจทก์ด้วยการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปตรวจร่างกายอีก แต่โจทก์ขัดคำสั่ง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งชอบด้วยกฎหมายและได้ตักเตือนแล้ว เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความ เสียหาย ขาดงานตั้งแต่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ลาป่วยเท็จ อันเป็นความผิดร้ายแรง หยุดงานเป็นเวลา ๕๒ วัน ซึ่งเกินกำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าจ้างระหว่างพักงาน เนื่องจากโจทก์ถูก ลงโทษตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่าไม่ต้องจ่ายค่าจ้างดังกล่าว ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในส่วนนี้ สำหรับค่าจ้างลากิจตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ การจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้ ส่วนค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ได้จ่ายให้โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างกรณีพักงาน ๒๓๕.๒๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓,๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย ๔๒,๓๓๖ บาท และค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๖,๓๗๗ บาท และค่าครองชีพอีกเดือนละ ๖๗๙ บาท กำหนดจ่ายเงินทั้งสองจำนวนทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน โจทก์ได้ยื่นใบลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์แนบพร้อมใบลาป่วย จำเลยมีหนังสือสั่งให้โจทก์ไปตรวจ ร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โจทก์รับทราบคำสั่งดังกล่าว แล้วโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าโจทก์ไม่ไปตรวจกับแพทย์อื่น จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์กรณีที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย และจำเลยมีหนังสือยืนยันคำสั่งให้โจกท์ไปตรวจร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถึงจำเลยปฏิเสธไม่ไปตรวจกับแพทย์คนอื่นเพราะโจทก์มีแพทย์รักษาอยู่แล้ว จำเลยมีหนังสือสั่งลงโทษพักงานโจทก์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ๑๑ วัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือ ยืนยันคำสั่งให้โจทก์ไปตรวจร่างกาย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ได้รับทราบคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้โดยชอบ
จำเลยอุทธรณ์ในข้อ ๒ ว่า โจทก์ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.๗ ข้อ ๔.๓.๖ จำเลยจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์ซึ่งลงความเห็นว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบบิสซิโนซิสเรื้อรังและโรคปอดอักเสบจากฝุ่นโลหะ แม้ว่าโจทก์จะได้รับอนุญาตให้ลาจนครบกำหนดและมาทำงานแล้วก็ตาม หากจำเลยมีข้อสงสัยว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจริงหรือไม่ หรือเห็นได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิลาป่วยโดยไม่สุจริต จำเลยก็ชอบที่จะสั่งให้โจทก์ไปรับการตรวจกับแพทย์ซึ่งจำเลยจัดให้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ป่วยจริงตามที่อ้าง หรือไม่ หากโจทก์ป่วยจริงและใช้สิทธิลาป่วยโดยสุจริตก็ยิ่งจะเป็นผลดีแก่โจทก์ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานที่มีเหตุผล ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อโจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เอกสารหมาย ล.๗ ข้อ ๔.๓.๖ กรณีไม่ร้ายแรง จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์และยืนยันให้โจทก์ไปตรวจร่างกายตามคำสั่ง เมื่อโจทก์ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จำเลยลงโทษพักงานโจทก์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และยืนยันให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีสิทธิออก คำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔) ทั้งเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ ๒ ประการอื่น และข้อ ๔ ที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้ออื่น ๆ ได้อีกหรือไม่เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างกรณีพักงานและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกรณีไม่ร้ายแรง การที่จำเลยลงโทษถูกต้องตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในข้อ ๔.๓.๖ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น โจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกระทำความผิด และเป็นการที่โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วและหนังสือเตือนดังกล่าวมีผลบังคับไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รับทราบหนังสือเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๗ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด