แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๓/๒๕๔๘
วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดแพร่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายชาญวิทย์ พรหมสุรินทร์ ที่ ๑ นายโกวิท พรหมสุรินทร์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลกเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๙/๒๕๔๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ ๑ ระดับ ๔ สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตากทำสัญญากับผู้ฟ้องคดี เพื่อไปศึกษาต่อภายในประเทศระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีกำหนดเวลา ๒ ปี ๑ ภาคการศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน สัญญาดังกล่าวมีข้อสัญญาว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการตามที่ราชการเห็นสมควรทันทีเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ไปศึกษา ถ้าผิดสัญญาจะต้องชดใช้คืนเงินเดือน เงินเพิ่ม หรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ได้รับไปจากทางราชการในระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อ โดยลดลงตามส่วนของระยะเวลาที่กลับเข้าปฏิบัติราชการ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องจ่ายเบี้ยปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีกเป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้คืน โดยจะต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนครบถ้วนภายในกำหนดสามสิบวันนับจากวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ฟ้องคดี หากไม่ชำระหรือชำระให้แต่ไม่ครบจะต้องชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ชำระในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับจากวันถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าวจนกว่าจะชำระครบถ้วนอีกด้วย เมื่อครบกำหนดตามสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องสำเร็จการศึกษาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ขออนุญาตขยายระยะเวลาการศึกษากับผู้ฟ้องคดีออกไปอีกหลายครั้งเนื่องจากยังไม่สำเร็จการศึกษา โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติและรับผิดตามสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เช่นเดิม ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้อนุญาตตามคำขอ ต่อมาเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สำเร็จการศึกษา ผู้ฟ้องคดีจึงแต่งตั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้ารับราชการ ณ สังกัดเดิมตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ แต่หลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้ารับราชการแล้วได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยขาดราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร อ.ก.ค. กรมอาชีวศึกษาจึงมีมติให้ไล่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำสั่งไล่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในขณะที่รับราชการจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะปฏิบัติราชการครบกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ลาศึกษาต่อเป็นการผิดสัญญาลาศึกษาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไว้ทั้งหมดจากทางราชการระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อโดยลดลงตามส่วนระยะเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับเข้ารับราชการคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมเบี้ยปรับอีกจำนวนสองเท่ารวมเป็นเงิน ๑,๑๙๙,๕๘๑.๕๓ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับราชการในช่วงที่ขาดราชการและหลังจากที่ถูกไล่ออกจากราชการคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีกเป็นจำนวน ๕๒,๖๗๘.๑๐ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีรวมเป็นเงิน ๑,๒๕๒,๒๕๙.๖๓ บาท ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวน ๑,๓๒๕,๘๑๔.๘๖ บาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผิดชดใช้ให้ไม่เกิน ๑,๒๗๑,๕๕๖.๔๒ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน ๑,๑๙๙,๕๘๑.๕๓ บาท และร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๕๒,๖๗๘.๑๐ บาท ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน ๑,๑๙๙,๕๘๑.๕๓ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องมารวม ๒ ข้อหา ข้อหาที่หนึ่งฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองผิดสัญญาอนุญาตให้ข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติและสัญญาค้ำประกัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินเป็นค่าเงินเดือน เบี้ยปรับ พร้อมดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระหนี้ ข้อหาที่สองฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับเงินเดือนไปโดยไม่มีสิทธิตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขาดราชการและถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไประหว่างที่ขาดราชการและภายหลังที่ถูกไล่ออกจากราชการคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๕๒,๖๗๘.๑๐ บาท คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าคำฟ้องในข้อหาที่สองอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งหรือไม่ ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้จ่ายเงินเดือนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ แต่ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๕๒,๖๗๘.๑๐ บาท การจ่ายเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีในห้วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายให้สำหรับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับเข้าปฏิบัติราชการในสังกัดผู้ฟ้องคดี มิใช่การจ่ายให้ในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลาไปศึกษาต่อ กรณีจึงมิใช่ความรับผิดตามสัญญาอนุญาตให้ข้าราชการไปศึกษาต่อในประเทศภาคปกติ ข้อหานี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ ที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนเงินดังกล่าวก็เป็นการเรียกคืนจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับเงินเดือนไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เข้าลักษณะเป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่คดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อหานี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาได้
ศาลจังหวัดแพร่เห็นว่า แม้การจ่ายเงินเดือนของผู้ฟ้องคดีในห้วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นการจ่ายให้สำหรับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับเข้ามาปฏิบัติราชการในสังกัดผู้ฟ้องคดี มิใช่การจ่ายให้ในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลาไปศึกษาต่อ และมิใช่เป็นความรับผิดระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องคืนเงินดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นว่า คำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกันซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้น คดีพิพาทที่จำต้องวินิจฉัยในคดีนี้ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ เป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดผู้ฟ้องคดีและเป็นคู่สัญญากับผู้ฟ้องคดีในสัญญาอนุญาตให้ข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำผิดสัญญาเนื่องจากรับราชการไม่ครบกำหนดตามสัญญาเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงขณะรับราชการภายหลังสำเร็จการศึกษาจนเป็นเหตุให้ถูกไล่ออกจากราชการ กับฟ้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินเดือนที่ได้รับภายหลังกลับเข้ารับราชการในช่วงที่ขาดราชการและหลังจากที่ถูกไล่ออกจากราชการคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นสอดคล้องกันในข้อหาแรกว่า คดีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่งคืนเงินเดือนที่รับไปโดยไม่มีสิทธิว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกันซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำของฝ่ายปกครอง
ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับเงินเดือนจากทางราชการไปโดยไม่มีสิทธิ เนื่องจากภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สำเร็จการศึกษาและได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้จ่ายเงินเดือนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ แต่ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งที่ ๑๔๕/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ ลงโทษไล่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิในช่วงที่ขาดราชการและหลังจากที่ถูกไล่ออกจากราชการคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดี จึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการ ซึ่งในการวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องคืนเงินดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาคำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากราชการ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พ้นจากสถานภาพเป็นข้าราชการนับแต่วันที่ระบุในคำสั่ง ทำให้ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินเดือน คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีในภายหลังแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย จึงเป็นคดีพิพาทอันสืบเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ทั้งเป็นคดีพิพาทที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในข้อหาแรกซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ฟ้องคดี
นายชาญวิทย์ พรหมสุรินทร์ ที่ ๑ นายโกวิท พรหมสุรินทร์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๗