คำวินิจฉัยที่ 42/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๒/๒๕๔๘

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงดุสิต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกัน ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ นายวิจิตร นีละไพจิตร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง สำนักงานสลาก กินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อสลากงวดวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ แบบเลขท้าย ๒ ตัว หมายเลข ๙๗ และ ๗๙ ล่างและบน ฉบับละ ๑๐๐ บาท จำนวน ๔ ฉบับ จากคนเดินจำหน่ายของตัวแทนจำหน่ายรหัสหมายเลข ๑๓๑๖๙๒ ที่หน้าตลาดศรีย่าน โดยผู้ฟ้องคดีได้ถูกรางวัลเลขท้าย ๒ ตัวบนหมายเลข ๙๗ จำนวน ๑๐๐ บาท ซึ่งจะได้รับเงิน จำนวน ๖,๕๐๐ บาท แต่เนื่องจากสลากหาย ผู้ฟ้องคดีจึงได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗ และไปติดต่อขอรับเงินรางวัลจากตัวแทนจำหน่ายที่ขายสลากให้กับผู้ฟ้องคดีและจำได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซื้อสลากไปจริง แต่ผู้แทนจำหน่ายดังกล่าวไม่ยอมจ่ายเงินให้โดยอ้างว่าจะต้องให้มีการยืนยันจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อนและเมื่อมาขอคำยืนยันก็ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า เป็นระเบียบของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ห้ามมิให้ผู้แทนจำหน่ายจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่ไม่มีสลากมาแสดง ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำหนังสือลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอรับเงินรางวัล แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า มีประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ข้อ ๖ และฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ข้อ ๔ ประกอบกับเงื่อนไขการรับเงินรางวัลด้านหลังสลากประจำงวดวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ ข้อ ๑ และ ข้อ ๔ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ซื้อสลากจะต้องนำสลากส่วนที่ ๒ สำหรับผู้ซื้อไปขอรับเงินรางวัลกับผู้แทนจำหน่ายที่จำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อและเงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากต้นฉบับที่ถูกรางวัลเท่านั้น จึงไม่สามารถนำหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดนอกจากฉบับสลากส่วนผู้ซื้อมาแสดงเป็นหลักฐานการขอรับเงินรางวัล เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดมาแสดงประกอบเรื่องดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีระเบียบว่าด้วยการอายัดสลากแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จึงไม่อาจอายัดสลากที่ผู้ร้องเรียนอ้างว่าได้ทำสูญหายได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่จ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยอ้างประกาศดังกล่าวนั้น ไม่เป็นธรรมและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากเป็นประกาศที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยปรากฏหลักฐานการซื้อของผู้ฟ้องคดีอยู่ที่ต้นขั้วของผู้แทนจำหน่ายและข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ยืนยันการจำหน่ายของผู้แทนคนนั้นว่า มีเลขที่ผู้ฟ้องคดีซื้อปรากฏอยู่ การไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ฟ้องคดีหรือมีการกำหนดข้อห้ามมิให้จ่ายเงินรางวัลจึงไม่เป็นธรรม และผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้วยโดยได้รับคำตอบเป็นข้อเสนอแนะถึงการดำเนินการปรับปรุงการขอรับเงินรางวัลแบบเลขท้าย ๒ ตัว และ ๓ ตัว ซึ่งได้รับเงินรางวัลไม่สูงนัก หากทำสลากสูญหายแล้วแต่มีพยานเอกสารหลักฐานหรือพยานอื่นใด ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความเป็นเจ้าของสลากรางวัลอย่างแน่แท้แล้วหากไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในเงื่อนไขของระยะเวลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาจ่ายเงินรางวัลให้โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดมาแสดงก็ได้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและเพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชนโดยไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินควรที่จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สามารถรับเงินรางวัลกรณีสลากสูญหายได้ตามระเบียบนั้น จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชำระเงินรางวัลให้แก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นเงิน ๖,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้เพิกถอนประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๖ และฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๔
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การไม่จ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการโดยอาศัยประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๘๘/๒๕๔๖ ข้อ ๖ ซึ่งจะจ่ายเงินรางวัลหรือเงินรางวัลพิเศษให้แก่ผู้ถือสลากส่วนที่สองสำหรับผู้ซื้อที่ถูกรางวัลนำมาขอรับเท่านั้น แม้การสูญหายเสียหายหรือเกิดจากความผิดพลาดอันเกิดจากการกระทำของผู้แทนจำหน่ายและ/หรือผู้เดินจำหน่าย สำนักงานฯ ก็ไม่ต้องรับผิด และประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ข้อ ๔ หากเป็นกรณีที่สลากสูญหาย ไม่ว่ากรณีใด ๆ อันไม่อาจนำต้นฉบับสลากมาแสดงถึงการถูกรางวัลและขอรับเงิน อันมิใช่ความผิดของสำนักงานฯ ก็จะไม่จ่ายเงินรางวัลให้เช่นกัน แม้จะอ้างว่ามีหลักฐานอื่นหรือรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายมาอ้างอิงประกอบก็ตาม เว้นแต่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดมาแสดง จึงเป็นการกระทำโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ต้องมีการขออนุญาตเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน ดังนั้น ประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๘๘/๒๕๔๖ ข้อ ๖ และที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ข้อ ๔ เป็นเงื่อนไขในการจำหน่าย และการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ถูกรางวัลตามที่ขออนุญาตเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเท่านั้น ประกาศดังกล่าวมิใช่เป็นการใช้อำนาจของรัฐทางปกครองที่มุ่งประสงค์ให้กำหนดผลทางกฎหมายและมิใช่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎหรือคำสั่งทางปกครอง และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้เนื่องจากเป็นการผิดเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งโดยนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๒ ว่าด้วยหนี้ มาใช้บังคับ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มีผลผูกพันระหว่างคู่สัญญาตามมาตรา ๘๕๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย ๒ ตัว จำนวน ๖,๕๐๐ บาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิเสธการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยอ้างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๖ ฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๔ นั้น จึงเป็นข้อพิพาทกันตามสัญญาดังกล่าว และสัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับ การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๖ และประกาศฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๔ กรณีผู้ถูกสลากทำต้นฉบับสลากสูญหายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะไม่จ่ายเงินรางวัลให้เว้นแต่จะมีคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดมาแสดง และขอให้ชำระเงินรางวัล แม้ศาลจะพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินตามคำฟ้องก็ตาม ก็ไม่สมดังเจตนาของผู้ฟ้องคดีเพราะไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว โดยที่ประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวออกโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายในกำกับกระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ และออกประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเพื่อใช้บังคับกับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเพื่อบังคับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ออกสลากหารายได้ให้รัฐ ประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิใช่ใช้เฉพาะรายและผู้ฟ้องคดีฟ้องกล่าวหาว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรมสำหรับประชาชนทั่วไปที่ผลักภาระการพิสูจน์ให้ผู้ทำสลากถูกรางวัลหายต้องฟ้องคดีทุกราย หากผลการพิจารณาคดีปกครองได้ความว่า คำสั่งทางปกครองที่มีผลบังคับทั่วไปดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สภาพบังคับของคำสั่งก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมสำหรับประชาชนที่ถูกสลากรางวัลจำนวนน้อย ๆ แล้วทำสลากหาย ต้องดิ้นรนฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดซึ่งต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เมื่อเปรียบเทียบกับเงินรางวัลที่จะได้รับแล้วไม่คุ้มค่า จึงไม่ไปรับเงินรางวัลภายใน ๒ ปี ในที่สุดเงินนั้นก็ตกเป็นของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน เมื่อคำสั่งทางปกครองที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปดังกล่าวเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ซื้อสลาก จึงต้องเพิกถอนคำสั่งนั้นเสียและให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกประกาศใหม่ กำหนดวิธีขาย การทำพยานหลักฐานไว้ล่วงหน้าที่เหมาะสม วิธีการพิสูจน์สิทธิหาเจ้าของสลากที่แท้จริงเมื่อสลากหาย โดยกำหนดให้ผู้ถูกรางวัลจำนวนเงินน้อย ๆ ที่ทำสลากหายและผ่านการพิสูจน์ตามวิธีการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดแล้วขอรับเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้โดยตรง ไม่จำต้องไปฟ้องศาลรอคำพิพากษาถึงที่สุดมาแสดงเว้นแต่กรณีรางวัลใหญ่ ๆ เงินจำนวนมาก ๆ หรือเหตุพิเศษเท่านั้นที่ต้องฟ้องศาล ผลของคำพิพากษาศาลปกครองที่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีผลบังคับทั่วไปดังกล่าวจะมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีนี้ได้รับเงินจำนวน ๖,๕๐๐ บาท ตามระเบียบที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดใหม่อัตโนมัติ ผู้มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้คือศาลปกครองมิใช่ศาลยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) เมื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์เป็นการทั่วไปเพราะคำพิพากษาของศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองมีผลใช้บังคับทั่วไปเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร ไม่ต้องผลักภาระให้ประชาชนที่ทำสลากถูกรางวัลหายและเงินรางวัลจำนวนน้อย ๆ ต้องมาฟ้องศาลขอรับเงินรางวัลทุกรายไปไม่มีที่สิ้นสุดเพราะคำพิพากษาของศาลยุติธรรมมีผลใช้เฉพาะคู่ความที่มาฟ้องคดีเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกคดี ส่วนคำขอรับเงินรางวัลจำนวน ๖,๕๐๐ บาทนั้น เมื่อการได้รับเงินรางวัลล่าช้าเกิดจากผลของคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าวศาลปกครองมีคำพิพากษาให้จ่ายเงินดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดี ซื้อสลากเลขท้าย ๒ ตัว ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ งวดวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ และถูกรางวัลจำนวน ๖,๕๐๐ บาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปฏิเสธการจ่ายเงินรางวัลเนื่องจากตนทำสลากสูญหาย โดยอ้างประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๖ และฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๔ ซึ่งเป็นกรณีผู้ถูกสลากทำต้นฉบับสลากสูญหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะไม่จ่ายเงินรางวัลให้ เว้นแต่จะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดมาแสดง ทั้งที่มีรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายมาอ้างอิงประกอบก็ตาม จึงฟ้องขอให้ชำระเงินรางวัล และให้เพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทั้งสองฉบับในส่วนของข้อ ๖ และข้อ ๔ ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การไม่จ่ายเงินรางวัลให้เป็นไปตามประกาศฯ ทั้งสองฉบับ เป็นการกระทำโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะใด เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่จำหน่ายสลากและจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ถูกรางวัล การที่ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงซื้อสลากดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขาย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ส่วนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๖ และประกาศฉบับที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๔ ที่กำหนดให้ผู้ถูกสลากที่ทำต้นฉบับสลากสูญหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะไม่จ่ายเงินรางวัลให้เว้นแต่จะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดมาแสดงนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายสลากระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกรางวัลจากการซื้อสลากของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายเงินรางวัลเพราะขัดกับระเบียบดังกล่าวอันเนื่องมาจากสลากสูญหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่างนายวิจิตร นีละไพจิตร ผู้ฟ้องคดี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share