แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายมีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วมในขบวนรถไฟ โดยผู้ตายจะต้องเดิน ทางไปกับขบวนรถไฟด้วย การที่ให้ผู้ตายพักผ่อนหลังจากทำงานตั้งแต่เวลา 23 นาฬิกา จนถึงเวลา 4.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นก็เพื่อให้ผู้ตายได้มีเวลาพักผ่อนหลับนอนแล้วจะได้เริ่มปฏิบัติงานต่อจนถึงเวลาที่รถไฟถึงสถานีปลายทาง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตายที่จะต้องอยู่พักผ่อนในขบวนรถไฟนั้นเพื่อเริ่มปฏิบัติงานต่อไป ดังนั้น การที่ผู้ตายปิดประตูรถแล้วพลัดตกจากขบวนรถไฟจนถึงแก่ความตายในช่วงเวลาที่ผู้ตายพักผ่อนหลังจากที่ได้ ทำงานมาแล้ว จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนและค่าทำศพในการที่นายสม ทองสว่าง ลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายสมผู้ตายประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นายสมผู้ตายมีตำแหน่งเป็นคนการ มีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วมในขบวนรถไฟในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๑ นายสมผู้ตายจะต้องปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟสายหนองคาย-กรุงเทพ ตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีรถไฟหนองคายในเวลา๑๙ นาฬิกา จนถึงเวลา ๒๓ นาฬิกา หลังจากนั้นจนถึงเวลา ๔.๓๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลาพักผ่อน นายสมผู้ตายจะนอนที่รถทำการพนักงานรักษารถ แล้วเริ่มปฏิบัติงานต่อตั้งแต่เวลา ๔.๓๐ นาฬิกา จนถึงเวลาที่รถไปถึงสถานีรถไฟปลายทาง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หน้าที่ที่นายสมผู้ตายจะต้องปฏิบัติในขบวนรถไฟจะเป็นการทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วม แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นายสมผู้ตายจะต้องเดินทางไปกับขบวนรถไฟด้วย การที่ให้นายสมผู้ตายพักผ่อนหลังจากทำงานตั้งแต่เวลา ๒๓ นาฬิกา ของวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๑ ถึงเวลา ๔.๓๐นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นก็เพื่อให้นายสมผู้ตายได้มีเวลาพักผ่อนหลับนอนแล้วจะได้เริ่มปฏิบัติงานต่อหลังจากที่ได้พักผ่อนแล้วจนถึงเวลาที่รถไฟถึงสถานีรถไฟปลายทาง ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายสมผู้ตายที่จะต้องอยู่พักผ่อนในขบวนรถไฟเพื่อเริ่มปฏิบัติงานต่อไป ดังนั้นการที่นายสมผู้ตายปิดประตูรถแล้วพลัดตกจากขบวนรถไฟจนถึงแก่ความตายในช่วงเวลาที่นายสมผู้ตายพักผ่อนหลังจากที่ได้ทำงานมาแล้ว จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามความหมายของคำว่า”ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.