แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลำรางสาธารณะที่จำเลยสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กทับมีสภาพเป็นพื้นดิน กับมีหญ้าขึ้นปกคลุมเนื่องจากตื้นเขินมาก เมื่อทางราชการได้ผ่อนผันให้จำเลยปรับปรุงลำรางสาธารณะโดยเปลี่ยนจากการรื้อถอนถนนเป็นการสร้างสะพานท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งจำเลยได้นำเงิน 5,200,000 บาท ไปจ่ายให้ทางราชการเป็นค่าก่อสร้างแล้ว ทั้งจำเลยศึกษาจบระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ และมีหน้าที่การงานเป็นกิจจลักษณะรายได้เดือนละ 37,000 บาท จึงมีเหตุอันควรปรานีแก่จำเลย เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษจำคุกไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่21 กันยายน 2531 อันเป็นวันฟ้อง ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยนายอุดม ชาติยานนท์และนายอำพัน พูนดำริห์ชัย กรรมการในฐานะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลและจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ได้ร่วมกันเข้าไปยึดถือและครอบครองที่ดินในเขตลำรางสาธารณะหนองอีแฟของกรุงเทพมหานครอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้เป็นทางระบายน้ำร่วมกันและเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตรรุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ประมาณ 2,880 ตารางเมตรอันเป็นการทำให้เสียหายแก่ที่ดินนั้นเพราะทำให้สภาพของที่ดินกลายเป็นถนน และเสียสภาพการระบายน้ำไป โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเหตุเกิดที่แขวงประเวศ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 360 ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 กับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่ยึดถือและครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497มาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง) ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด3 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โทษจำคุกจำเลยที่ 2ให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองให้หนักขึ้นและไม่ลงโทษให้กึ่งหนึ่งกับขอให้ไม่รอการลงโทษหรือยกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 และไม่ยกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ขอให้ยกโทษจำคุกหรือรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 โดยมีผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ว่า มีเหตุสมควรที่จะยกโทษจำคุกหรือรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 2 ของพนักงานคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติกลางว่าลำรางสาธารณะหนองอีแฟก่อนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กทับนั้น มีสภาพเป็นพื้นดินกับมีหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่เนื่องจากตื้นเขินมากดังปรากฏตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประเวศ เอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ ถนนที่จำเลยสร้างขึ้นนั้นเป็นถนนภายในหมู่บ้านที่จำเลยจัดสรรจำหน่ายแก่ประชาชนและมีท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง60 เซนติเมตร อยู่ 2 ข้างถนน จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินส่วนที่เป็นถนนในหมู่บ้านเสรี (อ่อนนุช) ทั้งหมด ให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2525 ต่อมาเมื่อทางเขตพระโขนงทราบว่าจำเลยสร้างถนนขึ้นบนลำรางสาธารณะหนองอีแฟ จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนออกไป จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือชี้แจงขอผ่อนผันการรื้อถอน โดยอ้างว่าถ้ารื้อถอนจะทำให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่จำนวนมากเดือดร้อน ได้ความต่อไปว่า นายบรรจบ พะลัง ช่างชั้น 3 สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบลำรางสาธารณะที่เกิดเหตุมีความเห็นว่า แม้ถนนที่จำเลยทั้งสองสร้างจะมีการวางท่อระบายน้ำไว้ 2 ข้างทางแล้วก็ตาม แต่ก็มีขนาดเล็กและวางไว้ตื้น หากเป็นช่วงที่มีน้ำไหลผ่านมากก็จะระบายน้ำไม่ทัน อาจทำให้น้ำท่วมถนนและหมู่บ้านได้ ในที่สุดสำนักการระบายน้ำได้ผ่อนผันให้จำเลยทั้งสองปรับปรุงลำรางสาธารณะโดยเปลี่ยนจากการรื้อถอนถนนเป็นการสร้างสะพานท่อคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2.40×2.00 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้นำเงินจำนวน5,200,000 บาท ไปจ่ายให้สำนักการระบายน้ำเป็นค่าก่อสร้างสะพานท่อคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นแล้ว ดังปรากฏตามใบเสร็จเงินสดของกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายคำให้การ และต่อมาสำนักการระบายน้ำได้ทำการจ้างบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด ให้ทำการก่อสร้างท่อระบายน้ำดังกล่าวในวงเงินค่าจ้าง 5,199,950 บาท ตามสัญญาจ้างที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ส่งมาให้จำเลยที่ 1 เอกสารท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 สำหรับในด้านการศึกษาและอาชีพของจำเลยที่ 2นั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ศึกษาจบระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์และมีหน้าที่การงานเป็นกิจจะลักษณะรายได้เดือนละ 37,000 บาทเมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเป็นดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยกระทำความผิดอาญามาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานีแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษจำคุกไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือนปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.