คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่จำเลยปลอมขึ้นซึ่ง ดวงตราของ กระทรวงการต่างประเทศ แล้วนำไปประทับในหนังสือเดินทางให้เกิดรอยตรา ที่ประทับเหมือนของจริง จึงเป็นการปลอมหนังสือเดินทางสำเร็จบริบูรณ์สมเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 265 กับมาตรา 251 ซึ่ง เป็นบทหนักกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยนำหนังสือเดินทางปลอมซึ่ง มีรอยตรา ปลอมประทับดังกล่าวไปใช้ แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจ ประทับตราเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น การกระทำของจำเลยส่วนหลังนี้จึงเป็นการใช้เอกสารปลอมและรอยตรา ปลอมในขณะเดียว กัน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 ประกอบด้วย มาตรา 251 ต้องลงโทษตาม มาตรา 252 ซึ่ง เป็นบทหนัก แต่ ตาม มาตรา 263 กำหนดว่าผู้กระทำผิดตาม มาตรา 251 หากกระทำผิดตาม มาตราอื่นในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษตาม มาตรา251 เพียงกระทงเดียว ดังนี้ จึงต้อง ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 263 เพียงกระทงเดียว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,83, 91, 251, 252, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 5 และขอให้ริบหนังสือเดินทางของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83, 91, 251, 252, 264, 265, 268 (ที่แก้ไขแล้ว)จำเลยปลอมดวงตรากระทรวงการต่างประเทศ 2 ดวงตรา ปลอมหนังสือเดินทางแล้วประทับดวงตราปลอมลงในหนังสือเดินทางปลอมดังกล่าวก็เพื่อให้การปลอมหนังสือเดินทางเสร็จบริบูรณ์ เป็นความผิดกรรมเดียวกันและจำเลยใช้หนังสือเดินทางปลอมดังกล่าวด้วยให้ลงโทษตามมาตรา 251ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 3 ปี และข้อหาใช้เอกสารราชการปลอมและรอยตราปลอมนั้นตามมาตรา263 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 251 จำคุกจำเลย 3 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำเอกสารปลอมและทำดวงตราปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 251 กระทงหนึ่งซึ่งโทษตามมาตรา 251 เป็นบทหนักกับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้รอยตราปลอมตามมาตรา 268 วรรค 2 ประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา252 อีกด้วย ซึ่งโทษตามมาตรา 252 เป็นบทหนัก ตามมาตรา 263 ให้ลงโทษตามมาตรา 251 กระทงเดียว จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตราของกระทรวงการต่างประเทศ แล้วนำไปประทับในหนังสือเดินทางให้เกิดเป็นรอยตราที่ประทับเหมือนของจริงเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงนั้น เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้การปลอมหนังสือเดินทางสำเร็จบริบูรณ์สมดังเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับมาตรา 251 ซึ่งเป็นบทหนัก กระทงหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางปลอมซึ่งมีรอยตราปลอมประทับดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อตรวจประทับตราเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยส่วนหลังนี้เป็นการใช้เอกสารปลอมและรอยตราปลอมในขณะเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 ประกอบด้วยมาตรา 251 ลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนัก แต่มาตรา 263 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตาม…มาตรา 251…ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตาม…มาตรา 251…แต่กระทงเดียว” ดังนั้น เมื่อจำเลยทำดวงตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงต้องลงโทษตามมาตรา 251 ประกอบด้วยมาตรา 263 เพียงกระทงเดียว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3942/2529ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นางสาวทองมา ลือนาม หรือถวิลเผือกประพันธ์ จำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำความผิดของจำเลยตามมาตรา 265, 268 เป็นการกระทำความผิดคนละหมวดกับความผิดตามมาตรา251, 252 ซึ่งมีความหมายว่าจะนำมาตรา 263 มาใช้บังคับไม่ได้นั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความผิดกระทงแรกตามมาตรา 265ได้รวมเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 251 ซึ่งจะต้องลงโทษตามมาตรา 251 อันเป็นบทหนักและความผิดกระทงหลังตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 ได้รวมเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 252 ประกอบด้วยมาตรา 251 ซึ่งจะต้องลงโทษตามมาตรา 252 อันเป็นบทหนักดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว การปรับบทลงโทษจึงต้องลงโทษตามมาตรา 251 และ 252 ซึ่งอยู่ในหมวดเดียวกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษตามมาตรา 265 และ 268 อีกเมื่อเป็นดังนี้ย่อมนำมาตรา 263 มาใช้บังคับได้
ข้อที่โจทก์ฎีกาขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปีและศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี อันถือได้ว่าเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 ก็ตาม แต่เห็นว่า จำเลยเป็นคนไทย กระทำความผิดคดีนี้ก็เพื่อต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน และจำเลยต้องขังมานานพอที่จะเกิดความสำนึกผิดได้แล้ว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share