คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12018/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่หากจำเลยเห็นว่ามีข้อเท็จจริงใดที่จะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของตนแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิขอสืบพยานได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งข้ออ้างของจำเลยว่าไม่มีโอกาสนำเสนอพยานหลักฐานเพราะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ก็เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาอ้างในศาลฎีกา ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแต่ในศาลล่าง จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียงหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่ตามหมายจำคุกและกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลย 2 ปี แทนค่าปรับ 300,000 บาท ซึ่งเป็นการมิชอบ การกักขังแทนค่าปรับถูกต้องหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 300 เม็ด น้ำหนัก 29.290 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.388 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว โทรศัทพ์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียจำนวน 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าซึ่งจำเลยใช้เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเป็นของกลาง สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลาง โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ต่อไป จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยคดีละ 7 เดือน ในควมผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนทั้งสองคดี จำเลยพ้นโทษในคดีทั้งสองแล้วมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง กับเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 12 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 จำคุก 18 ปี และปรับ 600,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี และปรับ 300,000 บาท ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยก่อนเพิ่มโทษและลดโทษมีกำหนด 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสมควรลงโทษจำเลยสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งมีพิษภัยร้ายแรง นอกจากจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของผู้เสพเองแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมและเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมอีกหลายประการ การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนับเป็นต้นเหตุในการทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดสู่ประชาชน อันเป็นการทำให้ผู้คนตกเป็นทาสของยาเสพติดให้โทษเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับเมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้มีจำนวนถึง 300 เม็ด น้ำหนัก 29.290 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.388 กรัม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลย 12 ปี ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษนั้นนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และสำหรับโทษปรับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ให้ลงโทษปรับจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก่อนเพิ่มโทษและลดโทษให้แก่จำเลยซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยมานั้น เหมาะสมแล้วเช่นเดียวกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยบอกแหล่งที่ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และมีการบันทึกและลงลายมือชื่อของจำเลยไว้เป็นหลักฐานในชั้นจับกุมแต่คดีไม่มีการสืบพยาน และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน จำเลยจึงไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวมาแสดงต่อศาลชั้นต้น เป็นทำนองว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่หากจำเลยเห็นว่ามีข้อเท็จจริงใดที่จะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของตนแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิขอสืบพยานได้ แต่เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ในสำนวนว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งข้ออ้างของจำเลยว่าไม่มีโอกาสนำเสนอพยานหลักฐานเพราะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ก็เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาอ้างในศาลฎีกา ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแต่ในศาลล่าง จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียงหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่ตามหมายจำคุกและกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลย 2 ปี แทนค่าปรับ 300,000 บาท ซึ่งเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share