แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมที่รวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ไว้ด้วย แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในวันถัดจากวันที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. 226 (2)
ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์คือผลจากการที่โจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เครื่องหม้อน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานตามสัญญา จำเลยจำเป็นต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา มูลหนี้ตามฟ้องแย้งคือความเสียหายที่จำเลยได้รับจากการผิดสัญญาของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิมแล้ว เมื่อจำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิอันเนื่องมาจากสัญญาจัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำพร้อมอุปกรณ์เช่นเดียวกับที่โจทก์อ้างเป็นฐานแห่งมูลความคดี มูลคดีที่โจทก์ฟ้องและที่จำเลยฟ้องแย้งจึงเกิดจากสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ภายหลังโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิม เป็นเพียงการแก้ไขความเสียหายของจำเลยที่มีอยู่ก่อนแล้ว หาใช่จำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิเมื่อจำเลยไปว่าจ้างบุคคลภายนอกไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 120,018.33 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 107,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,343,748 บาท แก่จำเลยพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินค่าตะแกรงเตาจำนวน 345,800 ริงกิต และจำนวน 850,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 345,800 ริงกิต และจำนวน 850,000 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่จำเลย หากโจทก์จะชำระเงินค่าตะแกรงเตาเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ กับให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะคดี โดยให้คำนวณทุนทรัพย์ที่ชนะคดีจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่มีคำพิพากษา ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษา ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรผลิตไอน้ำและหม้อน้ำสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิตน้ำมันปาล์ม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 โจทก์ทำสัญญาจัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวลขนาด 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง พร้อมอุปกรณ์กับจำเลย โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่าเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์จัดหาและติดตั้งให้จำเลยสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง และอุณหภูมิของน้ำต้องอยู่ในระดับ 105 องศาเซลเซียส และตกลงรับประกัน 2 ปี นับแต่จำเลยยอมรับการตรวจสอบระบบแล้ว จำเลยตกลงจะชำระเงินค่าเครื่องหม้อน้ำและค่าติดตั้งให้โจทก์จำนวน 1,070,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยวางมัดจำในวันลงนามสัญญาจำนวน 214,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็นจำนวน 5 งวด ตามช่วงเวลาที่กำหนดในสัญญา โจทก์นำเครื่องหม้อน้ำไปติดตั้งที่โรงงานของจำเลยแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2552 จำเลยชำระค่าสินค้าและค่าบริการให้แก่โจทก์แล้วรวมจำนวน 4 งวด เป็นเงินจำนวน 963,000 ดอลลาร์สหรัฐ คงเหลือเงินงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้โจทก์เมื่อมีการทดสอบเครื่องหม้อน้ำเสร็จสิ้นจำนวน 107,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นวันที่ 26 มิถุนายน 2552 จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์แจ้งว่า เครื่องหม้อน้ำมีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น เชื้อเพลิงเผาไหม้ไม่หมด อุณหภูมิของน้ำมีความร้อนไม่ถึง 105 องศาเซลเซียส สายของตะกรับเตาได้รับความเสียหาย ไอน้ำรั่วออกจากท่อ อุปกรณ์ส่งเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ได้รับความเสียหาย และวันที่ 29 มิถุนายน 2552 โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินงวดสุดท้าย ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2552 โจทก์ส่งช่างมาตรวจสอบระบบเครื่องหม้อน้ำและทำรายงานผลการตรวจสอบ และส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะมาดำเนินการแก้ไขเครื่องหม้อน้ำให้ และต่อมาส่งโทรสารขอเลื่อนนัด หลังจากนั้นวันที่ 3 กันยายน 2552 โจทก์ส่งช่างมาดำเนินการแก้ไขเครื่องหม้อน้ำให้แก่จำเลย ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาวันที่ 7 และ 23 กันยายน 2552 และวันที่ 1 ตุลาคม 2552 จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์แจ้งว่าเครื่องหม้อน้ำที่แก้ไขแล้วผลิตไอน้ำได้เพียง 14 ถึง 15 ตัน ต่อชั่วโมง และแจ้งปัญหาเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์ต้องแก้ไขให้ครบถ้วนตาม ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2553 โจทก์และจำเลยได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหามีรายละเอียดตามรายการปรับปรุงเครื่องหม้อน้ำ หลังจากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2553 โจทก์ส่งช่างมาดำเนินการแก้ไขเครื่องหม้อน้ำให้จำเลยอีกครั้งตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และวันที่ 23 ถึง 31 สิงหาคม 2553 โจทก์ส่งพนักงานบริษัทโจทก์มาทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำอีกครั้ง หลังจากนั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 โจทก์แจ้งจำเลยว่ายอมลดเงินที่จำเลยต้องชำระงวดสุดท้ายจำนวน 16,764.51 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เครื่องหม้อน้ำบางอย่าง คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์จำนวน 90,235.59 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องชำระเงินภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 และโจทก์จะดำเนินการแก้ไขเครื่องหม้อน้ำให้ตามข้อตกลง แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ยื่นข้อเสนอใหม่แก่จำเลยว่า หากจำเลยชำระเงินค่าเครื่องหม้อน้ำและค่าติดตั้งงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์ร้อยละ 60 ของเงินจำนวน 93,016 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินจำนวน 55,810 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์จะส่งช่างไปตรวจดูเครื่องหม้อน้ำให้จำเลย และหากจำเลยจะซ่อมแซมเครื่องหม้อน้ำเอง โจทก์จะลดเงิน ที่จำเลยค้างชำระให้จำเลยชำระอีกร้อยละ 20 แต่จำเลยไม่ยอมชำระ หลังจากนั้นจำเลยดำเนินการแก้ไขเครื่องหม้อน้ำเองโดยว่าจ้างบริษัทดับเบิ้ลยูซีเอ็นจิเนียริ่งแอนด์พาร์ท จำกัด ให้เขียนแบบและผลิตตะกรับเตาใหม่ และว่าจ้างนายยุทธนา ห่อสุวรรณ ให้ดำเนินการติดตั้งตามสัญญาจ้างและใบเสนอราคา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจัดหาติดตั้งและทดสอบระบบของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล ขนาด 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง พร้อมอุปกรณ์ และมีหน้าที่ต้องชำระเงินงวดสุดท้ายตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สำหรับปัญหาว่าจำเลยไม่ได้ดำเนินการทดสอบเครื่องหม้อน้ำภายใน 2 เดือน หลังจากติดตั้งเครื่องหม้อน้ำเสร็จ จึงถือว่าการทดสอบเสร็จสิ้นแล้วตามสัญญา หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากติดตั้งเครื่องหม้อน้ำเสร็จในเดือนมีนาคม 2552 แล้ว เครื่องหม้อน้ำยังมีข้อบกพร่องหลายประการที่โจทก์ต้องแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบของโจทก์ผู้รับจ้าง ดังนั้น ระยะเวลา 2 เดือน นับแต่การติดตั้งเสร็จสิ้นตามข้อสัญญาดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ ทั้งหลังจากครบกำหนด 2 เดือน นับแต่โจทก์ติดตั้งเครื่องหม้อน้ำเสร็จ โจทก์ก็ส่งพนักงานบริษัทโจทก์ไปดำเนินการทดสอบการทำงานของเครื่องหม้อน้ำด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกข้อตกลงดังกล่าวมากล่าวอ้างว่าการทดสอบเครื่องจักรเสร็จสิ้นแล้วเพื่อให้จำเลยชำระเงินงวดสุดท้ายตามสัญญาให้แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่า เครื่องหม้อน้ำที่โจทก์จัดหาและติดตั้งให้แก่จำเลยสามารถผลิตไอน้ำได้กำลังตามสัญญา ข้อ บี – 4 หรือไม่นั้น โจทก์มีนายซู พนักงานบริษัทโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานและตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตามสัญญา ข้อ ดี – 5 กำหนดว่า ในการทดสอบจำเลยผู้ว่าจ้างจะต้องจัดหาเชื้อเพลิงในปริมาณที่เพียงพอต่อการทดสอบ แต่ในการทดสอบเครื่องหม้อน้ำครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2552 นั้น จำเลยไม่ได้เตรียมเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการทดสอบให้เพียงพอ ทำให้การทดสอบปรากฏผลว่าเครื่องหม้อน้ำผลิตไอน้ำได้เพียง 24.3 ตัน ต่อชั่วโมง โดยตามรายการปรับปรุงเครื่องหม้อน้ำ ซึ่งมีข้อความว่า ฝ่ายจำเลยระบุว่าจะเชิญวิศวกรมาร่วมในการทดสอบเดินเครื่องครั้งที่ 2 ด้วย แต่โจทก์ไม่ยินยอม โดยวิศวกรบริษัทโจทก์ได้เขียนบันทึกว่าเหตุที่ไม่ยินยอมเนื่องจากในการทดสอบครั้งแรกจำเลยไม่ได้เตรียมเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการทดสอบ ดังนั้น เหตุที่การทดสอบเครื่องหม้อน้ำไม่ได้กำลังผลิตไอน้ำตามที่ระบุไว้ในสัญญา ครั้งแรกจึงไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ แต่ต่อมาเมื่อมีการทดสอบเครื่องหม้อน้ำครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 ถึง 31 สิงหาคม 2553 ซึ่งโจทก์ได้ส่งวิศวกรบริษัทโจทก์ชื่อนายหว่อง (Mr. Wong Chee Woon) ไปทำการทดสอบที่โรงงานของจำเลย ได้มีการรายงานผลการทดสอบว่าเครื่องหม้อน้ำของโจทก์ผลิตไอน้ำได้มากกว่า 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง และแผงควบคุมเครื่องหม้อน้ำและพีแอลซี (PLC) อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและใช้งานได้ตามปกติ ตามภาพถ่ายแสดงผลการทดสอบการทำงานของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล และภาพถ่ายแผงควบคุมหม้อต้มและตามรายงานผลการทดสอบครั้งที่ 2 ซึ่งพนักงานบริษัทโจทก์ได้ทำขึ้นในเดือนกันยายน 2553 ได้มีการระบุไว้ด้วยว่าระหว่างการทดสอบครั้งที่ 2 นั้นเครื่องหม้อน้ำไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทดสอบมีไม่เพียงพอด้วย และโจทก์ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งจำเลยด้วยว่าในการทดสอบเดินเครื่องหม้อน้ำครั้งที่ 2 นั้นเครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง แต่ทดสอบเดินเครื่องได้เพียง 20 นาที เชื้อเพลิงก็หมด และจำเลยไม่สามารถหาเชื้อเพลิงมาได้ จึงไม่มีการทดสอบเดินเครื่องอีก ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 นอกจากนี้ การที่เครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเครื่องหม้อน้ำนั้นใช้การได้แล้ว ส่วนจำเลยมีนายณัฏฐพัชร ซึ่งเป็นวิศวกรตรวจทดสอบหม้อน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนที่ได้ใบอนุญาตมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า พยานได้รับการติดต่อจากนายจำเนียร ผู้จัดการโรงงานบริษัทจำเลยให้เข้าร่วมทดสอบเครื่องหม้อน้ำที่จำเลยซื้อจากโจทก์เพื่อใช้ไอน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มของจำเลย และพยานได้เข้าร่วมทดสอบเครื่องหม้อน้ำที่บริษัทจำเลยรวมจำนวน 2 ครั้ง โดยการทดสอบเครื่องหม้อน้ำครั้งแรกในวันที่ 13 ถึง 14 กรกฎาคม 2553 นั้นผลการทดสอบไม่ผ่าน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ทำให้เครื่องหม้อน้ำไม่สามารถทำความร้อนเพื่อไปผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตามสัญญา โดยผลิตไอน้ำได้เพียง 24.3 ตัน ต่อชั่วโมง และไม่ได้ไอน้ำในระดับที่ต่อเนื่อง ทั้งยังเกิดปัญหาระหว่างการทดสอบคือระดับน้ำที่อยู่ในหม้อต่ำกว่าระดับน้ำที่ควรจะเป็น รายละเอียดของการทดสอบปรากฏตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ต่อมาเมื่อมีการทดสอบเครื่องหม้อน้ำครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2553 ก็พบปัญหาเช่นเดิมคือเครื่องหม้อน้ำไม่สามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้หมด ทำให้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ไม่หมดสะสมในห้องเผาไหม้จำนวนมาก และเป็นเหตุให้เครื่องหม้อน้ำเร่งไม่ขึ้นและทำให้เครื่องหม้อน้ำผลิตไอน้ำได้กำลังต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ทั้งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมไอน้ำที่จะไปปั่นกระแสไฟฟ้าให้คงที่ได้ ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 พร้อมรายงานการทดสอบเครื่องหม้อน้ำและความเห็นในการทดสอบ และในการทดสอบดังกล่าวนั้นจำเลยได้จัดเตรียมเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะใช้ในการทดสอบแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเครื่องหม้อน้ำของโจทก์ได้ เนื่องจากตะกรับเตาที่ใช้ในการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นโจทก์ติดตั้งไว้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยไม่มีช่องนำขี้เถ้าออก ทำให้เกิดการสะสมของขี้เถ้าและเป็นเหตุให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ และจำเลยมีนายยุทธนา ซึ่งเป็นผู้รับจ้างติดตั้งตะกรับเตาตัวใหม่ให้แก่จำเลยมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า จำเลยได้ติดต่อพยานให้ไปตรวจสอบเรื่องตะกรับเตา หลังตรวจสอบแล้วพยานได้แจ้งจำเลยว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากตะกรับเตาของโจทก์ไม่ได้ทำช่องนำขี้เถ้าออก เมื่อเชื้อเพลิงเผาไหม้ ขี้เถ้าจึงตกอยู่ใต้ตะกรับเตาและสะสมอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดความร้อนสะสมเป็นเหตุให้ตะกรับเตาทรุดตัวและใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ การที่โจทก์นำแผ่นสแตนเลสซึ่งมีการขยายตัวสูงเมื่อถูกความร้อนมาทำเป็นพื้นของตะกรับเตาก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อสแตนเลสโดนความร้อนจะยืดและหดตัวมาก ทำให้ปูนแตกเป็นเหตุให้เชื้อเพลิงตกลงใต้ตะกรับเตาและเกิดการสะสมอยู่ที่ด้านล่างของตะกรับเตา ทำให้เกิดการอุดตัน ทั้งในระหว่างเดินเครื่องปรากฏว่ามีขี้เถ้าตกจากตะแกรงเข้าไปในห้องลม เกิดการสะสมจนไม่สามารถเดินเครื่องได้ เนื่องจากท่อระบายขี้เถ้าออกปากท่อจมอยู่ในน้ำ จึงทำให้ปลายท่ออุดตันและขี้เถ้าสะสมอยู่ในถาดรองรับขี้เถ้าใต้ตะแกรงสั่นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ตะแกรงสั่นเกิดการอุดตัน ลมจึงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้และทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เชื้อเพลิงไม่สามารถติดไฟได้ จึงเกิดการสะสมของเชื้อเพลิงอยู่บนตะแกรงสั่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้เครื่องหม้อน้ำไม่สามารถผลิตไอน้ำได้สมบูรณ์ตามสัญญา และเป็นเหตุให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น และจำเลยยังมีนายเฉลิม กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 นายซู และวิศวกรบริษัทโจทก์มาที่โรงงานของจำเลยเพื่อตรวจสอบสภาพของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวลและหาวิธีแก้ไข แต่นายซู กลับเสนอให้แก้ไขแบบและให้ใช้เหล็กหล่อและใช้แผ่นเหล็กปิดระหว่างช่องตรงกลางของตะแกรงตะกรับเตาแทนสแตนเลส กับทำท่อยืดหยุ่นที่หัวด้านหน้าของตะแกรงสั่น และบริเวณที่อยู่ใกล้หัวตะแกรงสั่นให้ทำเป็นรูปโค้งเพื่อมาต่อกับ ข้ออ่อน รวมทั้งทำฐานรองรับถังไอน้ำใหม่ และที่ด้านหลังของหม้อน้ำย้ายหัวตะแกรงสั่น (Header cooling vibrating grate) กับย้ายถังพักหล่อเย็นของตะกรับเตาไปไว้ด้านบน รื้ออิฐแดงแล้วแทนด้วยแผ่นเหล็กขันน๊อตตามแบบรายการแก้ไขตามใบเสนอราคา และบันทึกการประชุมเรื่องแนวทางแก้ไขตะกรับเตาลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 แต่รายการแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตะกรับเตาให้แก่จำเลยได้จนถึงปัจจุบัน
เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ติดตั้งเครื่องหม้อน้ำซึ่งมีกำลังผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง ให้แก่จำเลยเสร็จสมบูรณ์แล้วตามสัญญาลงวันที่ 12 มีนาคม 2550 แต่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเครื่องหม้อน้ำและค่าติดตั้งงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์ติดตั้งให้มีข้อบกพร่องทำให้ไม่สามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตามสัญญา และโจทก์ไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ติดตั้งเครื่องหม้อน้ำซึ่งมีกำลังผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง ให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์มีเพียงนายซู วิศวกรบริษัทโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่าหลังจากติดตั้งเครื่องหม้อน้ำให้จำเลยเสร็จแล้ว โจทก์ได้ทำการแก้ไขปรับแต่งเครื่องหม้อน้ำจนสามารถผลิตไอน้ำได้กำลัง 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตามสัญญาได้ ตามภาพถ่ายแสดงผลการทำงานของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าผู้ใดเป็นผู้ถ่ายรูปหน้าจอเครื่องหม้อน้ำดังกล่าวและถ่ายไว้เมื่อใด เมื่อจำเลยไม่รับว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพถ่ายเครื่องหม้อน้ำของจำเลย ทั้งนายเดชา วิศวกรเครื่องกลพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยรับว่าพยานไม่สามารถยืนยันว่าตัวเลขกำลังผลิตไอน้ำ 27.6 ตัน ต่อชั่วโมง ตามภาพถ่ายแสดงผลการทำงานของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล จะรักษาระดับดังกล่าวไว้ได้ตลอดหรือไม่ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าภาพถ่ายแสดงผลการทำงานของเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดว่าเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์จัดหาและติดตั้งให้จำเลยจะสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตามสัญญา และสามารถคงระดับดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานของจำเลยได้ ส่วนรายงานการทดสอบเครื่องหม้อน้ำดังกล่าวที่โจทก์อ้างว่ามีการระบุว่าเครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.6 ตัน ต่อชั่วโมง และระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การทดสอบเครื่องหม้อน้ำต่อไปไม่ได้เนื่องจากจำเลยไม่จัดเตรียมเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการทดสอบนั้น ก็มีเพียงข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ระบุเพียงว่าวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้มากกว่า 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง โดยผลิตได้นานเพียง 20 กว่านาทีเท่านั้น นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าวยังปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “During that time, the fuel is sufficient” ซึ่งแปลได้ความว่าระหว่างการทดสอบมีเชื้อเพลิงเพียงพอ และระบุถึงเหตุที่หยุดการทดสอบในวันดังกล่าวเป็นข้อความภาษาอังกฤษว่า “But at the end boiler was stop due on the high noise level emission” ซึ่งแปลได้ความว่าเหตุที่หยุดเครื่องหม้อน้ำเนื่องจากเกิดเสียงดังของการส่งไอน้ำออกมา นอกจากวันดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏในรายงานการทดสอบอีกเลยว่าในวันอื่น ๆ ที่ได้มีการทดสอบนั้น เครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงอีก แม้ในเอกสารดังกล่าวปรากฏข้อความว่าในวันที่ 29 และ 30 สิงหาคม 2553 มีการทดสอบเครื่องอีกแต่เชื้อเพลิงไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่ามีพนักงานบริษัทจำเลยได้ร่วมลงชื่อรับทราบเรื่องดังกล่าวไว้ในเอกสารดังกล่าวด้วย และได้ความจากคำเบิกความของนายซู พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นเอง เอกสารดังกล่าวเป็นการทำขึ้นของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยนำสืบมาว่าจำเลยได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ขอให้โจทก์มาแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องหม้อน้ำเนื่องจากผลิตไอน้ำไม่ได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตลอดมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เอกสาร จนกระทั่งต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องหม้อน้ำในเดือนมีนาคม 2553 แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายประสงค์ให้โจทก์มาทดสอบและแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องหม้อน้ำ กรณีจึงไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยจะไม่เตรียมการจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการทดสอบเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องหม้อน้ำดังที่โจทก์นำสืบมา ทั้งเชื้อเพลิงดังกล่าวก็ไม่น่าจะมีราคาแพงจนจำเลยไม่สามารถจัดหามาให้เพียงพอได้ ซึ่งในข้อนี้จำเลยก็มีนายณัฏฐพัชร ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรตรวจสอบหม้อน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและจำเลยติดต่อให้มาร่วมการทดสอบด้วยเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้จัดเตรียมเชื้อเพลิงให้เพียงพอแก่การทดสอบ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายจำเนียร พนักงานบริษัทจำเลยที่ว่าจำเลยได้จัดเตรียมเชื้อเพลิงจำนวน 500 ตัน ไว้สำหรับใช้ในการทดสอบ และได้เตรียมเชื้อเพลิงสำรองไว้อีกชั่วโมงละ 9 ตัน คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยจัดหาเชื้อเพลิงเพียงพอใช้ในการทดสอบแล้ว แต่เหตุที่เครื่องหม้อน้ำผลิตไอน้ำไม่ได้กำลัง 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงนั้นเกิดจากสาเหตุอื่น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า การทดสอบว่าเครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้กำลัง 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะถือว่าเครื่องหม้อน้ำใช้การได้และถือว่าการทดสอบผ่านแล้วหรือไม่นั้น โจทก์มีเพียงนายซู มาเบิกความลอย ๆ เท่านั้น ซึ่งคำเบิกความของพยานดังกล่าวก็ขัดกับคำเบิกความของนายเดชา พยานโจทก์ซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โดยปกติทั่วไปในการทดสอบเครื่องหม้อน้ำจะต้องใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 วัน 2 คืน จึงจะทราบว่าเครื่องหม้อน้ำสามารถใช้งานได้สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งคำเบิกความของนายเดชาน่าจะถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงมากกว่าคำเบิกความของนายซู เนื่องจากการทดสอบเครื่องหม้อน้ำที่มีราคาสูงนั้นไม่ควรจะมีการทดสอบเพียง 1 ชั่วโมง ก็ทราบผล แต่ควรจะต้องทำการทดสอบตามการใช้งานจริงในโรงงานซึ่งต้องมีการใช้เครื่องหม้อน้ำเพื่อผลิตไอน้ำวันละหลายชั่วโมงติดต่อกัน ที่นายซู พยานโจทก์เบิกความว่าหากเครื่องหม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้กำลัง 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นเวลาเพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเครื่องหม้อน้ำใช้การได้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบสนับสนุนให้เห็นว่าเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลยสามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง และสามารถคงระดับกำลังผลิตไอน้ำดังกล่าวได้ในระดับที่จำเลยสามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานของจำเลยได้ แต่ในขณะที่จำเลยมีพยานหลักฐานเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันระหว่างจำเลยกับโจทก์และรายงานการประชุมเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเครื่องหม้อน้ำนับแต่โจทก์ติดตั้งเครื่องหม้อน้ำให้จำเลยแล้วเสร็จตามบันทึกการประชุมรายการปรับปรุงเครื่องหม้อน้ำ รายงานผลการตรวจสอบและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 โดยมีภาพถ่ายเครื่องหม้อน้ำที่ต้องทำการแก้ไขในเอกสาร ที่แสดงถึงความเสียหายของตะกรับเตาแบบสั่นที่โจทก์นำมาประกอบและติดตั้งให้จำเลยเพียง 2 ปีเศษมาแสดงต่อศาล ประกอบกับเมื่อโจทก์มาตรวจสอบตะกรับเตาดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แล้วโจทก์และจำเลยได้ตกลงให้มีการแก้ไขปัญหาของตะกรับเตาของโจทก์ตามเอกสาร แต่โจทก์ยังไม่ดำเนินการแก้ไขโดยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้จำเลยชำระเงินงวดสุดท้ายบางส่วนก่อน โจทก์จึงจะนำพนักงานมาดำเนินการซ่อมให้ตามเอกสาร นอกจากนี้จำเลยยังมีนายณัฎฐพัชรและนายยุทธนามาเบิกความยืนยันได้สอดคล้องต้องกันว่าเหตุที่เครื่องหม้อน้ำมีกำลังผลิตไอน้ำไม่ได้กำลัง 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงตามสัญญา เนื่องจากติดตั้งตะกรับเตาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาโดยไม่มีการทำช่องเพื่อให้นำขี้เถ้าออกมา ทำให้ขี้เถ้าเกิดการสะสมและทำให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ เครื่องหม้อน้ำจึงไม่สามารถผลิตไอน้ำให้ได้กำลังตามสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ไม่นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าว ทั้งยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับกันว่าโจทก์ได้เสนอให้มีการแก้ไขแบบตะกรับเตาตามรายการแก้ไขตามใบเสนอราคา และบันทึกการประชุม เนื่องจากตะกรับเตาได้รับความเสียหายมากหลังจากที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลยเพียง 2 ปีเศษ แม้นายซู พยานโจทก์เบิกความว่าการที่ตะกรับเตาได้รับความเสียหายมากอาจเป็นผลมาจากการขาดการบำรุงหรืออาจเกิดจากการไม่ทำความสะอาดขี้เถ้าอย่างเหมาะสมก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานดังกล่าวก็เป็นเพียงการคาดคะเนโดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน ทั้งนายเดชา พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า หากเครื่องหม้อน้ำติดตั้งถูกวิธี ก็สามารถใช้งานได้นาน และในกรณีที่เกิดขี้เถ้าอุดตันอาจเป็นเพราะผู้ติดตั้งใช้วิธีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาดังกล่าวจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เชื่อว่าโจทก์ติดตั้งเครื่องหม้อน้ำให้จำเลยไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ เครื่องหม้อน้ำที่โจทก์จัดหาและติดตั้งให้จำเลยจึงไม่สามารถผลิตไอน้ำได้ 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง ตามสัญญาได้ โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าจัดหาและติดตั้งเครื่องหม้อน้ำงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเปลี่ยนตะกรับเตาแบบสั่นเป็นแบบโยกเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญา จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญานั้น โจทก์มีนายซู มาเบิกความเพียงว่าโจทก์ติดตั้งตะกรับเตาแบบสั่นตามที่ได้ตกลงกับจำเลยและสามารถทำงานเพื่อให้ขี้เถ้าไหลลงสะดวกกว่าตะกรับเตาแบบโยก และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงให้ดีขึ้น การที่จำเลยเปลี่ยนตะกรับเตาจากแบบสั่นมาเป็นแบบโยกนั้นโจทก์ไม่รู้เห็นด้วย แต่พยานดังกล่าวกลับตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าจำเลยเคยเสนอต่อโจทก์ว่าหากเปลี่ยนตะกรับเตาเป็นแบบโยกจะดีกว่าแบบสั่น แต่พยานเห็นว่าตะกรับเตาแบบโยกไม่ดีกว่าแบบสั่น เมื่อคำเบิกความของพยานดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นว่าตะกรับเตาแบบโยกที่จำเลยเปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสาระสำคัญของสัญญาข้อใด และการเปลี่ยนตะกรับเตาเป็นแบบโยกจะไม่ดีกว่าตะกรับเตาแบบสั่นที่โจทก์ติดตั้งให้ อันมีผลต่อการทำให้เครื่องหม้อน้ำที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลยไม่สามารถผลิตไอน้ำได้ตามสัญญาอย่างไร การที่จำเลยเปลี่ยนตะกรับเตาจากแบบสั่นเป็นแบบโยกจึงหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาหรือองค์ประกอบสำคัญของเครื่องหม้อน้ำอันถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เมื่อโจทก์ยังไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องหม้อน้ำที่ติดตั้งให้แก่จำเลย โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่าจัดหาและติดตั้งเครื่องหม้อน้ำงวดสุดท้ายตามคำฟ้องได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกันกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย หรือไม่ ปัญหานี้แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในวันถัดจากวันที่ศาลดังกล่าวกำหนดประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยตกลงว่าจ้างบริษัทดับเบิ้ลยูซีเอ็นจิเนียริ่งแอนด์พาร์ท จำกัด ให้ผลิตตะกรับเตาใหม่ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2555 และจ้างนายยุทธนา มาดำเนินการติดตั้งตะกรับเตาใหม่ตามใบเสนอราคาลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ตามเอกสาร เป็นเวลาภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 แล้วฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาไปด้วยกันได้นั้นเห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คำฟ้องเดิมของโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าเครื่องหม้อน้ำงวดสุดท้าย เพราะเครื่องหม้อน้ำที่โจทก์จัดหาและนำมาติดตั้งให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามสัญญาจัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวลขนาด 27.2 ตัน ต่อชั่วโมง พร้อมอุปกรณ์ และฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้เงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าจ้างแก่บริษัทดับเบิ้ลยูซีเอ็นจิเนียริ่งแอนด์พาร์ท จำกัด และนายยุทธนา ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์คือผลจากการที่โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้เครื่องหม้อน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานตามสัญญา จำเลยจำเป็น ต้องว่าจ้างบริษัทดับเบิ้ลยูซีเอ็นจิเนียริ่งแอนด์พาร์ท จำกัด และนายยุทธนาให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา จึงขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการปฏิบัติผิดสัญญาของโจทก์มูลหนี้ตามฟ้องแย้งคือความเสียหายที่จำเลยได้รับจากการปฏิบัติผิดสัญญาของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิมแล้ว เมื่อจำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิอันเนื่องมาจากสัญญาจัดหาติดตั้ง และทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล ขนาด 27.2 ตัน ต่อชั่วโมงพร้อมอุปกรณ์ เช่นเดียวกับที่โจทก์อ้างเป็นฐานแห่งมูลความคดีนี้ มูลคดีที่โจทก์ฟ้องและที่จำเลยฟ้องแย้งจึงเกิดจากสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเดิมเป็นเพียงการแก้ไขความเสียหายของจำเลยที่มีอยู่ก่อนแล้ว หาใช่จำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิเมื่อจำเลยไปว่าจ้างบุคคลภายนอกไม่ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกันกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา179 วรรคท้าย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 345,800 ริงกิต และจำนวน850,000 บาท แก่จำเลย โดยให้นำเงินจำนวน 107,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาหักออกจากเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวก่อน แล้วให้โจทก์ชำระเงินจำนวนที่เหลือจากการหักเงินจำนวน107,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนที่เหลือดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ในการหักเงินดังกล่าวให้เปลี่ยนเงินริงกิตจำนวน 345,800 ริงกิต และเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 107,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทโดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่หักเงินถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่หักเงิน ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าฤชาธรรมเนียมทั้งตามคำฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง