คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เกินเวลา 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 41 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 วรรคสองดังกล่าวซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำ ป.วิ.พ. มารา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับมิได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมาเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 3 เดือน สินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า 1 เดือน รวมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 และ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ด้วย
จำเลยขาดนัด ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 28,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2545 และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2545 มีใจความว่าจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ฟ้องจำเลย เมื่อพนักงานของจำเลยรับหมายแล้วพนักงานของจำเลยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยเพิ่งทราบเรื่องคดีนี้ตอนที่เจ้าพนักงานบังคับได้มายึดทรัพย์จำเลย ฉะนั้น จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัด หากมีโอกาสพิจารณาหรือต่อสู้คดีใหม่ จำเลยต้องชนะคดีแน่ จึงขออนุญาตให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีด้วย โดยขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและมีคำสั่งว่าคดีนี้ได้ส่งหมายเรียกจำเลยโดยทางไปรษณีย์ตอบรับได้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 กับส่งคำบังคับให้จำเลยได้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 จำเลยมายื่นคำร้องนี้เกิน 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จำเลยไม่ได้แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานด้วย และคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยวันที่ 29 ตุลาคม 2545 จำเลยมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่วันที่ 31 ตุลาคม 2545 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่งแล้ว เหตุนี้จึงขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 มีข้อความว่า “หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องส่งไปยังจำเลยแล้วและจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว แต่ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี จึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและให้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว” ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง การที่จำเลยมายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2545 จึงเป็นกรณีที่จำเลยแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ แต่เกินเวลา 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 41 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 วรรคสองดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share