แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงที่ใช้สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานใดห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร คงมีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์” แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์มีครรภ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 43
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม เข้าทำงานเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ในตำแหน่งเลขานุการิณี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 28,525 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีจดหมายเลิกจ้างโจทก์ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2545 อ้างว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ และมีขีดความสามารถจำกัด ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะนอกจากโจทก์จะทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขานุการิณีฝ่ายบริหารแล้ว จำเลยทั้งสามยังสั่งให้โจทก์ทำงานในฝ่ายบุคคลและฝ่ายบัญชีด้วย จนกระทั่งประมาณกลางปี 2544 ตั้งแต่โจทก์เริ่มตั้งครรภ์จำเลยทั้งสามได้ใช้วิธีการต่าง ๆ กดขี่ข่มเหงโจทก์เพื่อให้โจทก์ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 กลั่นแกล้งย้ายที่ทำงานของโจทก์จากโต๊ะทำงานในตำแหน่งเลขานุการิณีฝ่ายบริหารไปอยู่ที่โต๊ะโทรเลขในห้องเก็บของเพื่อให้โจทก์เกิดความไม่สะดวกในการทำงานจะได้ใช้เป็นข้ออ้างว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกลั่นแกล้งชะลอการจ่ายค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ให้โจทก์ และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งลดค่าจ้างโจทก์เหลือเดือนละ 20,000 ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ไม่ยินยอมและให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสามจึงได้จ่ายค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ให้โจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2545 พร้อมกับการจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคม 2545 โจทก์คลอดบุตรโดยการผ่าตัดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 และใช้สิทธิลาคลอดบุตร 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2545 ระหว่างที่โจทก์พักฟื้นหลังการคลอดบุตร จำเลยทั้งสามให้แผนกบุคคลมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งข้อบกพร่องซึ่งไม่เป็นความจริง 5 ประการ และให้พนักงานคนหนึ่งโทรศัพท์ถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์เลือกตัดสินใจว่าจะถูกลดค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างหรือจะลาออก แต่โจทก์ไม่ได้ให้คำตอบ จำเลยที่ 2 จึงมีจดหมายเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์และฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน เป็นเงิน 228,200 บาท จำเลยทั้งสามไม่สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการลาคลอดบุตร จดหมายเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงมีผลเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 27 มิถุนายน 2545 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นค่าจ้างตั้งแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นเงิน 30,426.67 บาท กับโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างการลาคลอดบุตรเป็นเงิน 42,787.50 บาท เงินโบนัส 2.5 เท่าของเงินเดือนเป็นเงิน 41,598.97 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1.81 วัน เป็นเงิน 1,721 บาท ดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2545 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2545 เป็นเงิน 375.12 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคำนวณตามค่าจ้างและอายุงานที่เหลืออีก 19 ปี เป็นเงิน 541,975 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวภายในวันที่ 30 เมษายน 2545 แล้ว แต่จำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระโดยจงใจคงโอนเงินเข้าบัญชีเงินให้โจทก์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 รวม 49,438 บาท โดยไม่ได้แจ้งว่าชำระหนี้ส่วนไหน โจทก์ถือว่าเป็นการชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสามจึงต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์อีก 492,537 บาท และต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดสำหรับค่าชดเชย ค้าจ้างระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ค่าจ้างระหว่างการลาคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเสียเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน ของเงินดังกล่าวและเงินค่าจ้างของเดือนกุมภาพันธ์ 2545 กับต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของเงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากนี้จำเลยทั้งสามยังมีหน้าที่ดำเนินการให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเบ็นไลน์ไทยแลนด์กรุ๊ปจ่ายเงินสะสมเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าชดเชยจำนวน 228,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 30 เมษายน 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยและเงินเพิ่มถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,938.76 บาท และ 171,150 บาท ตามลำดับ ค่าจ้างระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำนวน 30,426.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันผิดจัดจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยและเงินเพิ่มถึงวันฟ้องเป็นเงิน 525 บาท และ 22,820 บาท ตามลำดับ ค่าจ้างระหว่างการลาคลอดบุตรจำนวน 42,787.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยและเงินเพิ่มถึงวันฟ้องเป็นเงิน 738.36 บาท และ 32,090.80 บาท ตามลำดับ โบนัสจำนวน 41,598.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 359.10 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,721 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14.70 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 492,537 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,113.31 บาท ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2545 จำนวน 375.12 บาท และ 19,560 บาท ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเบ็นไลน์ไทยแลนด์กรุ๊ปจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินดังกล่าว และออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์จริง แต่สาเหตุไม่ได้เนื่องมาจากการที่โจทก์ตั้งครรภ์ และไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์เพราะจำเลยทั้งสามไม่ทราบว่าโจทก์ตั้งครรภ์เนื่องจากโจทก์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ต้องตำหนิว่ากล่าวอยู่เป็นประจำ จนจำเลยทั้งสามต้องรับพนักงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทำงานแทนและเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่โจทก์ให้ไปทำงานในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบน้อยลง จึงต้องย้ายโต๊ะทำงานของโจทก์ไปอยู่ที่อื่นและขอลดค่าจ้างลงชั่วคราวเพื่อให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่จัดทำบัญชีเงินเดือนพนักงานและยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี เอกสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่กับโจทก์ก่อนที่โจทก์จะลาคลอดบุตรโจทก์ไม่ยอมทำให้เสร็จหรือมอบหมายให้พนักงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบกลับฝากงานให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ และเมื่อโจทก์ลาคลอดบุตรแล้วโจทก์ไม่ใส่ใจที่จะฝากเอกสารสำคัญซึ่งต้องเก็บเป็นความลับคืนจำเลยทั้งสาม ทั้งยังหยิบเอกสารเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเงินเดือนพนักงานของจำเลยที่ 1 ไปโดยพลการ จำเลยทั้งสามไม่ได้กลั่นแกล้งไม่จ่ายค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ให้โจทก์ โจทก์ไม่จัดการให้มีการจ่ายค่าจ้างเดือนดังกล่าวให้โจทก์เอง ไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสาม จำเลยเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการทำงานของโจทก์บกพร่อง การที่โจทก์ฝากให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องนำเอกสารนำแบบแสดงรายการภาษีประจำปีไปยื่น ทำให้ความลับเกี่ยวกับเงินเดือนพนักงานของจำเลยที่ 1 ถูกเปิดเผย พนักงานแตกความสามัคคีในการทำงานและการที่โจทก์เอาเอกสารเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเงินเดือนพนักงานซึ่งถือว่าเป็นความลับสุดยอดของจำเลยที่ 1 ไป เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและจงใจทำให้จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าชดเชยจำนวน 228,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2545 กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,409.99 บาท เงินโบนัสจำนวน 16,520.72 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2545 จำนวน 328.90 บาท แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,426.67 บาท เงินโบนัสจำนวน 41,958.07 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,735.70 บาท หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราทุดท้ายเดือนละ 28,525 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามส่วนปีละ 2.5 เท่าของเงินเดือน มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 10 วัน วันทำงาน ปี 2545 โจทก์ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 4 วัน วันที่ 28 มีนาคม 2545 โจทก์คลอดบุตร และโจทก์ใช้สิทธิลาคลอดบุตรมีกำหนด 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2545 โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดระหว่างโจทก์ลาคลอดบุตร จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ 19 เมษายน 2545 ให้มีผลในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 20 เมษายน 2545 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง แต่การแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าของจำเลยที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือบอกกล่าวไปถึงโจทก์คือวันที่ 20 เมษายน 2545 จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยที่ 1 ให้ผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยที่ 1 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 เป็นเงิน 11,409.99 บาท เมื่อเลิกจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 โจทก์จึงมีเวลาทำงานในปี 2545 รวม 4 เดือน 19 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเท่ากับ 3.856 วัน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 4 วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามส่วนเป็นเงิน 16,520.72 บาท โจทก์อุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 วรรคสาม มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มาตรา 43 และมาตรา 59 บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิเพื่อลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน โดยไม่ให้ถือว่าเป็นวันลาป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน และห้ามนายจ้างมิให้เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ระหว่างที่โจทก์ลาคลอดบุตรโจทก์ยังมีสถานะเป็นลูกจ้างและจำเลยทั้งสามจะเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ ต้องรอให้วันลาคลอดบุตรของโจทก์สิ้นสุดลงถึงวันโจทก์จะต้องกลับเข้าทำงานในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2545 เสียก่อนจึงจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2545 และมีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยทั้งสามจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างของวันที่ 27 ถึง 28 มิถุนายน 2545 และค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม 2545 รวมเป็นเงิน 30,426.67 บาท และต้องถือว่าโจทก์มีเวลาทำงานในปี 2545 รวม 7 เดือน จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามส่วนจำนวน 41,958.07 บาท กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,735.70 บาท เห็นว่า แม้ในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงที่ใช้สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรและยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานใดห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร คงมีเพียงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ซึ่งแม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังว่า โจทก์ไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่ ขาดประสิทธิภาพในการทำงานหรือกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 แต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุโจทก์มีครรภ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 การบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือเลิกจ้างและทำให้ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 ตามที่จำเลยที่ 1 ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 เป็นเงิน 11,409.99 บาท โจทก์มีเวลาทำงานในปี 2545 รวม 4 เดือน 19 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 4 วัน จึงไม่สิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามส่วนเพียง 16,520.72 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน