คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433-3434/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสามมิได้จำกัดสิทธิของนายจ้างว่าเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมดเท่านั้น ฉะนั้นนายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นได้
การแจ้งถึงการปิดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518ให้นายจ้างแจ้งให้ฝ่ายลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง มิได้กำหนดให้แจ้งแก่ลูกจ้างเป็นรายบุคคล เมื่อนายจ้างแจ้งการปิดงานเป็นหนังสือให้สหภาพแรงงานผู้แจ้งข้อเรียกร้องที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกทราบแล้ว การแจ้งการปิดงานจึงชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างโจทก์ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ เมื่อวันที่16 มกราคม 2530 สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อจำเลยแทนโจทก์ วันรุ่งขึ้นจำเลยยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ ผู้แทนของสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและผู้แทนของจำเลยได้เจรจากันรวม 3 ครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้ในวันที่ 21 มกราคม 2530 สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและจำเลยต่างแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน (แรงงานจังหหัดนนทุบรี)พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงงานได้ทำการไกล่เกลี่ย ในวันที่23 และวันที่ 26 มกราคม 2530 รวม 2 ครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2530 จำเลยได้ยื่นหนังสือต่อสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอแจ้งว่าจะปิดงานบางส่วนตั้งแต่วันที่28 มกราคม 2530 เวลา 07.00 นาฬิกา เป็นต้นไป โดยแจ้งต่อประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ และผู้แทนของสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและในตอนเย็นวันที่ 26 มกราคม 2530 จำเลยได้แจกประกาศ 2 ฉบับเรื่อง ให้พนักงานหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง และเรื่องการปิดงานบางส่วนกับไปรษณีย์บัตร 1 แผ่น มีข้อความให้โจทก์ผู้รับแสดงตัวและความประสงค์ที่จะเข้าทำงาน โดยจำเลยมิได้ชี้แจงถึงสาเหตุใด ๆ การปิดงานบางส่วนของจำเลยนั้น โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยจะปิดงานต่อลูกจ้างผู้ใดบ้าง การปิดงานของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ถูกขั้นตอน จำเลยไม่มีอำนาจกระทำได้เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานตามปกติและไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2530 เป็นต้นไปรวม 4 วัน ต้องชำระเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะ 7 วัน ต้องจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี และชำระค่าจ้างระหว่างปิดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยเลิกปิดงานและรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานตามเดิมกับให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยเลิกปิดงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงานแก่โจทก์ทุกคนพร้อมทั้งจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างค้างชำระทุกระยะ 7 วัน กับดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยปิดงานงดจ้างโดยปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยเลิกปิดงานและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน กับโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 28มกราคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งอยู่ในระหว่างจำเลยปิดงาน จำเลยมิได้จงใจผิดนัดจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิลห้าของเงินที่ค้างชำระ พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การปิดงานและการแจ้งการปิดงานเป้นหนังสือเป็นขั้นตอนที่สำคัญของกฎหมาย เพื่อให้ฝ่ายลูกจ้างที่ถูกนายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ทำงานทราบล่วงหน้า จะได้ปฏิบัติต่อนายจ้างได้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกัน การแจ้งการปิดงานจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างฝ่ายที่ถูกปิดงานทราบและเข้าใจประกาศปิดงานบางส่วนของจำเลยที่แจ้งให้สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและลูกจ้างจำเลยทราบถึงการปิดงานของจำเลย ผู้รับเจ้งมิอาจทราบได้ว่าจำเลยจะปิดงานกับลูกจ้างผู้ใด ส่วนไหน แผนกไหนบ้าง การแจ้งการปิดงานและประกาศปิดงานของจำเลยจึงไม่ชดบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 22 วรรคสามได้ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะปิดงานหรือลูกจ้างที่จะนัดหยุดงานในกรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นและเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ได้ และการปิดงานนั้นตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายไว้ว่า คือการที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานไม่มีข้อความตอนใดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่กล่าวอ้างอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่าเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้วนายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมดเท่านั้น ฉะนั้น กรณีของโจทก์จำเลยนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ การที่จำเลยปิดงานเฉพาะฝ่ายผลิตไม่ยอมให้โจทก์กับลูกจ้างในฝ่ายผลิตเข้าทำงานจึงสามารถทำได้และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518วรรคท้าย ได้ปฏิบัติถึงการปิดงานว่า นายจ้างต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง กฎหมายมิได้กำหนดให้แจ้งแก่ลูกจ้างเป็นรายบุคคลเพราะใช้คำว่าฝ่ายเมื่อได้ความว่าจำเลยได้แจ้งการปิดงานบางส่วนเป็นหนังสือตามเอกสารหมายล.14 และ ล.16 ให้สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอทราบแล้ว การปิดงานและการแจ้งการปิดงานของจำเลยจึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้ว
พิพากษายืน.

Share