คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3200/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 132 เดิม (มาตรา 171 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติไว้ว่า “ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ท่านให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร” ดังนั้น ในการพิจารณาปัญหาว่าโจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกันอย่างไรจึงต้องพิจารณาจากสัญญาแบ่งพินัยกรรม และแผนที่สังเขปแนบท้ายสัญญาที่คู่ความอ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีประกอบกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 39, 3891, 3892 และ 3893 รวม 4 แปลง พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2530โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินกันโดยโจทก์ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทางด้านทิศเหนือจำนวน100 ตารางวา ส่วนจำเลยได้ทางทิศใต้ของจำนวนเนื้อที่ที่เหลือทั้งหมดหลังจากได้ทำสัญญาแบ่งแยกที่ดินกันแล้ว โจทก์ จำเลยได้ไปยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินกัน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แต่จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 39, 3891, 3892, 3893 ให้แก่โจทก์มีเนื้อที่ 100 ตารางวาโดยโจทก์และจำเลยออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละครึ่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้นำที่ดินทั้งสี่แปลงพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวก่อนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ยังมิได้มีการรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินที่แน่นอน จึงใช้คำว่า ส่วนที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา และส่วนของจำเลยได้เนื้อที่ประมาณ 138 ตารางวา ซึ่งต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบรังวัดเขตที่ดินที่แน่นอนแล้ว เนื้อที่ดินของโจทก์บางส่วนถูกตัดเป็นถนนไป ดังนั้นที่ดินส่วนที่เหลือจึงไม่ครบ 100 ตารางวา หากโจทก์จะยอมรับในสภาพของความเป็นจริงหลังจากได้มีการรังวัดแล้ว จำเลยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้บ้านเลขที่ 90/1 ซอยวรพงษ์ ถนนสามเสนแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และให้บ้านเลขที่ 88/1 และ 90 ซอยวรพงษ์ ถนนสามเสน แขวงบ้านพานถมเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและให้อยู่ในที่ดินที่ได้รับแบ่งแยก ซึ่งตามสัญญาข้อนี้จะเห็นได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์ในบ้านพักอาศัยกันโดยแจ้งชัดดังนั้นเนื้อที่ดินของโจทก์ขาดหายไปเพราะส่วนหนึ่งถูกทำเป็นถนนซึ่งหากโจทก์ยังคงยืนยันจะเอาที่ดินให้ครบจำนวน 100 ตารางวา จะทำให้จำเลยได้บ้านเลขที่ 88/1 และ 90 ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือจำเลยต้องทุบห้องน้ำ ห้องครัวทิ้งไป เพื่อนำที่ดินมามอบให้แก่โจทก์จนเต็มจำนวน กรณีดังกล่าวโจทก์ จำเลยไม่อาจตกลงกันได้ การแบ่งแยกที่ดินจึงต้องหยุดชะงักลง
ในวันนัดพร้อมหรือนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามสัญญาแบ่งพินัยกรรมและแผนที่สังเขปที่แนบกับสัญญาที่คู่ความขออ้างส่งศาลคู่ความรับข้อเท็จจริงกันอีกว่าห้องน้ำของบ้านเลขที่ 88/1 และห้องครัวด้วย ส่วนหนึ่งอยู่ใต้ชายคาบ้านของบ้านเลขที่ 90/1 ในแผนที่วิวาท บ้านเลขที่ 90/1 และ 88/1 รวมทั้งบ้านเลขที่ 90 มีชายคา2 ชั้น ชายคาชั้นบนไม่ติดกัน ส่วนชายคาชั้นล่างติดกันเป็นแนวยาวจากทิศเหนือของแผนที่วิวาทลงสู่ทิศใต้ แนวชายคาที่ติดกันนี้ในแผนที่วิวาทหมายไว้ด้วยเส้นสีน้ำเงิน ทางด้านทิศใต้ของแผนที่วิวาทส่วนที่เลขตัวบ้านและชายคาบ้านของโจทก์และจำเลย ปัจจุบันยังเป็นที่ว่างทั้งหมด โดยเดิมเคยเป็นหอพักและถูกไฟไหม้ บ้านเลขที่ 88/1อยู่ใต้บ้านเลขที่ 90 โดยบ้านทั้งสองอยู่ซ้อนกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินเพียง 85 9/10 ตารางวา ตามแนวเส้นสีน้ำเงินในแผนที่วิวาทให้โจทก์จำเลยไปดำเนินการแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินกันตามแนวเส้นสีน้ำเงินข้างต้น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาท 100 ตารางวา การแบ่งแยกให้ถือตามแนวเขตเส้นสีน้ำเงินในแผนที่วิวาท เริ่มจากทางทิศใต้จนสุดแนวชายคาบ้านชั้นล่างของโจทก์จำเลยที่มาจรดกัน หากได้เนื้อที่ดินยังไม่ครบ ขาดอยู่เท่าใดก็ให้แบ่งเนื้อที่ทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นที่ว่างให้โจทก์อีกจนครบ โดยการกำหนดแนวเขตที่ดินทางด้านนี้ให้ใช้วิธีเทียบเคียงเป็นแนวขนานกับเส้นสีน้ำเงินในแผนที่วิวาทด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกันอย่างไรเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 เดิม (มาตรา 171 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติไว้ความว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรดังนั้นในการพิจารณาปัญหาดังกล่าว จึงต้องพิจารณาจากสัญญาแบ่งพินัยกรรมและแผนที่สังเขปแนบท้ายสัญญา ซึ่งคู่ความอ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ประกอบกัน ตามสัญญาแบ่งพินัยกรรมมีใจความว่าโจทก์ตกลงจะเป็นผู้รับการแบ่งแยกที่ดินพิพาทรวม 4 โฉนด เฉพาะส่วนหน้าที่ติดถนนในซอยวรพงษ์รวมเนื้อที่ 100 ตารางวา ส่วนจำเลยตกลงจะรับส่วนแบ่งในที่ดินทั้ง 4 โฉนดนี้ในส่วนหลังของที่ดินที่เหลือทั้งหมด (ตามแผนที่สังเขปการแบ่งแยกที่แนบกับสัญญานี้)ข้อ 2 มีใจความว่า ในการแบ่งแยกนี้ โจทก์จำเลยตกลงกันให้บ้านเลขที่ 90/1 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้บ้านเลขที่ 88/1 และ 90 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและให้อยู่ในที่ดินที่ได้รับแบ่งแยก ส่วนแผนที่สังเขปนั้นโจทก์จำเลยตกลงให้ที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศเหนือในบริเวณสีเขียนเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา เป็นของโจทก์ ที่ดินที่อยู่ทางทิศใต้บริเวณสีแดงเนื้อที่ประมาณ 138 ตารางวา เป็นของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามแผนที่สังเขปที่ดินที่เป็นส่วนแบ่งของโจทก์คือที่ดินส่วนที่อยู่ภายในเส้นสีเขียวติดทางสาธารณประโยชน์ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ส่วนที่ดินที่อยู่ภายในเส้นสีแดงเป็นส่วนแบ่งของจำเลยติดทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกขณะทำแผนที่สังเขปดังกล่าวและสัญญาแบ่งพินัยกรรม มีทางสาธารณประโยชน์และบ้านเลขที่ 90/1, 88/1 และ 90 อยู่ก่อนแล้ว โดยชายคาชั้นล่างของบ้านเลขที่ 90/1 อยู่ติดกับชายคาของบ้านเลขที่ 88/1 จึงเห็นได้ว่าคู่สัญญามุ่งประสงค์ให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินทางด้านทิศเหนือโดยให้บ้านเลขที่ 90/1 เป็นของโจทก์ บ้านเลขที่ 88/1 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้เป็นของจำเลย โดยแบ่งตามแนวชายคาระหว่างบ้านเลขที่ 90/1 กับบ้านเลขที่ 88/1 จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเป็นเส้นขนานกับทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศเหนือ ตามแนวเส้นสีเขียวในแผนที่สังเขปดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บ้านทั้งสามหลังอยู่ในที่ดินที่ได้รับแบ่งแยกตามสัญญาแบ่งพินัยกรรม ข้อ 2 โดยไม่ต้องรื้อถอน แม้สัญญาแบ่งพินัยกรรมข้อ 1 จะระบุว่าให้โจทก์ได้ที่ดินรวมเนื้อที่ 100 ตารางวา แต่ตามแผนที่สังเขปซึ่งทำขึ้นในวันเดียวกันกลับระบุว่าส่วนที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา แสดงให้เห็นว่าการระบุเนื้อที่ที่ดินส่วนของโจทก์ในสัญญาแบ่งพินัยกรรม ข้อ 1 นั้นเป็นเพียงประมาณการโดยคำนวณจากเนื้อที่ดินทั้งหมดที่ระบุไว้ในโฉนดของที่ดินทั้งสี่แปลงที่โจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เพราะขณะนั้นยังไม่มีการรังวัดให้ทราบเนื้อที่ดินแน่นอนตามแผนที่วิวาทที่เจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นปรากฏว่า หากแบ่งที่ดินพิพาทเป็นแนวขนานกับทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศเหนือให้โจทก์ได้ที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา ตามแนวเส้นสีเขียว ห้องน้ำ ห้องครัวทั้งหมด ตลอดจนชายคาบ้านเลขที่ 88/1 จะอยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ ทำให้ต้องรื้อถอนออกไป การแบ่งที่ดินตามแนวดังกล่าวจึงขัดกับสัญญาแบ่งพินัยกรรมข้อ 2 และหากแบ่งที่ดินพิพาทตามแนวชายคาบ้านตามแนวเส้นสีน้ำเงินในแผนที่วิวาทโดยให้โจทก์ได้ที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แนวเขตดังกล่าวย่อมไม่ขนานกับทางสาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์ ขัดกับแผนที่สังเขปอีกเช่นกัน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามแนวเส้นสีน้ำเงินในแผนที่วิวาทขนานไปกับทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งอยู่เหนือที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์จึงตรงกับเจตนาของคู่กรณีแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share