แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้เรียกบุคคลอื่นเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตตามคำร้องจึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องของจำเลยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกจำเลยหลอกให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือทำนิติกรรมแตกต่างไปจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ จึงมีความหมายแปลได้ว่า จำเลยหลอกให้โจทก์สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่โจทก์จะทำและทำให้โจทก์หลงเชื่อแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับจำเลยโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามฟ้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามประเด็นโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ยกข้อพิพาทในเนื้อหาของคดีขึ้นมาในคำฟ้องฎีกา และมิได้ขอให้พิพากษาตามคำขอของโจทก์ตามที่ฟ้องมาศาลฎีกาจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อพิพาทในส่วนที่นอกจากปรากฏในคำฟ้องฎีกาได้ เมื่อโจทก์ฎีกาเฉพาะเพียงในข้อที่ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาท ให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงจะขายที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ2 งาน ของที่ดินโฉนดเลขที่ 27 ตำบลโคกปีบ อำเภอโคกปีบจังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ 1 งาน 96 เศษ 4 ส่วน 10ตารางวา ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 45,000 บาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ชี้แนวเขตและตกลงแนวเขตที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวกันแน่นอนแล้ว จำเลยที่ 2 ชำระเงินมัดจำให้แก่โจทก์เป็นเงิน15,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 2 มาชักชวนให้โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนขายและแบ่งแยกที่ดินที่ตกลงขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 บอกว่าเมื่อไปโอนที่ดินให้แล้วจะชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้แก่โจทก์ทันทีโจทก์ไปสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีกับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้โจทก์ลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารต่าง ๆ โดยบอกว่าเป็นการทำเรื่องจดทะเบียนโอนขายที่ดิน 2 งาน ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่ตกลงไว้ โจทก์เป็นคนชรา หูตึง อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ และไม่ได้มีการอ่านข้อความในเอกสารที่ให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือให้โจทก์ฟังโจทก์จึงลงลายพิมพ์นิ้วมือไปโดยเข้าใจว่าเป็นการโอนขายที่ดินและจดทะเบียนโอนขายและแบ่งแยกที่ดิน 2 งาน ให้แก่จำเลยที่ 2หลังจากนั้นประมาณ 4-5 เดือน โจทก์จึงเพิ่งทราบว่าที่โจทก์ลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารนั้นเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวของโจทก์จำนวน 1 ใน 2 ส่วนและให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือของโจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมดังกล่าวเลย การที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าว เป็นเพราะโจทก์สำคัญผิดว่าเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ของที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2ตามที่ได้ตกลงขายกันไว้เท่านั้น การแสดงเจตนาดังกล่าวของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมและการจดทะเบียนยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมและการจดทะเบียนที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27 ตามฟ้อง เป็นโมฆะ และให้เพิกถอนนิติกรรมและการจดทะเบียนดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27 ตามฟ้อง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน กับโจทก์ในราคา 45,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้วางเงินมัดจำจำนวน 25,000 บาทแล้วโจทก์ได้ทยอยมารับเงินที่ค้างไปจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ได้ทำนิติกรรมขายที่ดินด้วยความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมแต่ประการใดจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ โจทก์เป็นบุตรของนายแก้ว นางถมที่ดินโฉนดเลขที่ 27 เป็นที่ดินที่โจทก์ได้รับมรดกของนางถมโดยขณะที่นางถมยังมีชีวิตอยู่ ได้ตกลงกับโจทก์ว่าให้โจทก์แบ่งที่ดินที่โจทก์ได้รับจากนางถมให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่งเมื่อนางถมถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์จึงทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 27 ให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่งตามสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่นางถม โดยโจทก์ไม่ได้สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ทราบว่าโจทก์ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ร่วมเฉพาะส่วนของโจทก์ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดให้แก่โจทก์ โจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกนางเจียมเหล็กเกตุ ภริยาของโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยทั้งสองฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษา พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามประเด็น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางเจียม เหล็กเกตุ เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะนั้นเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกนางเจียมเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ โดยศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่ อนุญาตให้นางเจียมเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางเจียมเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะนั้นเสียแต่เนื่องจากคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่านางเจียมเป็นภริยาของโจทก์จึงเป็นทายาทของโจทก์ย่อมเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้จึงมีคำสั่งอนุญาตให้นางเจียมเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่โจทก์ฎีกาเพียงข้อเดียวว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษานอกประเด็นหรือไม่ ในปัญหานี้ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ถูกจำเลยทั้งสองหลอกให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือทำนิติกรรมยอมให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 27ของโจทก์จำนวน 1 ใน 2 ส่วน และให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เหลือของโจทก์ โดยโจทก์มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ2 งาน ของโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่ได้ตกลงกันเท่านั้น การแสดงเจตนาไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมเป็นโมฆะซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้การว่า โจทก์ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 27 ให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง และจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27 ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ได้สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้น จึงมีความหมายแปลได้ว่า จำเลยทั้งสองหลอกให้โจทก์สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมที่โจทก์จะทำและทำให้โจทก์หลงเชื่อแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับจำเลยทั้งสองโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ทำกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิม (มาตรา 156 ใหม่) นั้นหาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ตรงกับคดีนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฎีกาเฉพาะเพียงในข้อที่ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไปเท่านั้นแม้โจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลมาสำหรับจำนวนทุนทรัพย์ 45,000 บาทก็เป็นการเสียเกินมา เมื่อโจทก์ไม่ได้ยกข้อพิพาทในเนื้อหาของคดีขึ้นมาในคำฟ้องฎีกา และมิได้ขอให้พิพากษาตามคำขอของโจทก์ตามที่ฟ้องมาศาลฎีกาจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อพิพาทในส่วนที่นอกจากปรากฏในคำฟ้องฎีกาได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาทให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”