คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสมคบกับพนักงานไปรษณีย์ที่ยักยอกเงิน โดยส่งธนาณัติมาให้จำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยทำละเมิดต่อกรมไปรษณีย์ฯ โจทก์ต้องชดใช้เงินคืน การฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ไม่มีอายุความ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน68,077.38 บาท กับดอกเบี้ยในเงินต้นแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นหลานภรรยานายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ และขณะที่นายวิบูลย์พันธ์มณีรัตน์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์โทรเลขแม่สาย จังหวัดเชียงรายได้ทำหน้าที่รับจ่ายธนาณัติ ได้ปฏิบัติหน้าที่ทุจริตปลอมเอกสารใบฝากธนาณัติส่งเงินมาให้จำเลย 13 ครั้งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 65,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วนายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ ได้ส่งเงินด้วยตนเองเพียง 2,460 บาทเท่านั้น เป็นเหตุให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเสียหายเป็นเงิน 62,450 บาท และจำเลยได้รับเงินจำนวน 65,000 บาท ไปจากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขตากเรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 และรับฟังได้อีกว่านายวิบูลย์พันธ์มณีรัตน์ ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายฟ้องในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1690/2518 และนายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ รับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามฟ้องของโจทก์ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกนายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ มีกำหนด 6 ปี ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1636/2518 ของศาลจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้นายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ ยังถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนเป็นคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยคืนสำหรับจำนวนที่จำเลยได้รับไปจากไปรษณีย์โทรเลขตาก

ที่จำเลยฎีกาขึ้นมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะกล่าวอ้างในฎีกาว่าจำเลยไม่ทราบว่านายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ ทุจริตเอาเงินของโจทก์ส่งมาให้จำเลย และโจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากนายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก แต่คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ศาลฎีกาก็เห็นว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยสมคบกับนายวิบูลย์พันธ์มณีรัตน์ กระทำการทุจริตและจำเลยมาขอรับเงินธนาณัติที่นายวิบูลย์พันธ์มณีรัตน์ ส่งมาให้จำเลยโดยทุจริต และจำเลยได้รับเงินที่ส่งมาไปจากไปรษณีย์โทรเลขตากโดยไม่สุจริตและไม่มีมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้ ซึ่งแม้โจทก์จำเลยจะไม่มีนิติสัมพันธ์กัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยสมคบกับนายวิบูลย์พันธ์ มณีรัตน์ รับเงินตามจำนวนดังกล่าวไปแล้วจริงการกระทำของจำเลยก็ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งโจทก์มีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยได้ เพื่อการชดใช้หรือคืนเงินตามจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์บรรยายให้จำเลยทราบโดยละเอียดถึงวิธีการทุจริต และจำเลยได้รับเงินแต่ละคราวไปเมื่อไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด รวมทั้งได้แนบสำเนาภาพถ่ายเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการทุจริตมาท้ายฟ้องครบถ้วนแล้ว อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาต่อไปข้อสุดท้ายว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ได้มีการรายงานและที่สุดมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและตัวผู้รับผิดทางแพ่ง ซึ่งที่สุดนายไพบูลย์ แก้วกาญจน์หัวหน้ากองนิติการได้สรุปความเห็นเสนออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าเห็นควรให้จำเลยรับผิดเพียง 62,654 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเห็นชอบด้วย และมีคำสั่งให้ดำเนินการได้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2518ตามเอกสารหมาย จ.2 การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้นั้น ไม่มีกำหนดอายุความ ฉะนั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25พฤษภาคม 2519 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share