แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท บ. หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการ คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 การที่บริษัท บ. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัท จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่ แต่จำเลยไม่ได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกรรมการและเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบีพีดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการจัดการทรัพย์สินของบริษัท โดยนำไปชำระหนี้ของบริษัทก่อนแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้นแต่ในการชำระบัญชีของบริษัท จำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือ บริษัทได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง จำเลยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทยังมีหนี้ภาษีที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ ได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่นำทรัพย์สินของบริษัทชำระหนี้ภาษีจำนวน 491,425.21 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายให้แก่โจทก์ก่อน แต่กลับนำทรัพย์สินคือเงินจำนวน 1,538,905.44 บาท ของบริษัทคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นรวม 16 คน รวมทั้งจำเลย แล้วจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้ฟ้องบริษัทและจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่29 กันยายน 2538 ให้ร่วมกันชำระหนี้ภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรพิพากษาว่า คดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับฟ้องถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์2541 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 647,181.31 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรจำนวน 301,262.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับหนี้ค่าภาษีที่บริษัทบีพี ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป จำกัด ไม่ชำระให้แก่โจทก์แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน 1,538,905.44 บาท ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2541) ต้องไม่เกิน 647,181.31 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์กรุ๊ป จำกัด จำเลยจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการเป็นผู้ชำระบัญชีตามที่กฎหมายบัญญัติหน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการก็คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บีพี ดีเวลลอปเม้นท์กรุ๊ป จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง มีการขายสินค้าไปในราคาต่ำกว่าทุน แสดงยอดรายรับจากการขายขาดไป ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และปี 2535 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 25มิถุนายน 2535 กับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และมิถุนายน 2535 ไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องรู้ว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยก่อนจำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นการประเมินเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อน ไม่เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น อีกทั้งการชำระบัญชีต้องปฏิบัติตามมาตรา 1271 ที่บัญญัติให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นแก่นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาบรรดาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งเมื่อบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากรมาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมา โดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่จำเลยมิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์โดยกลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 ที่กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีกันเงินส่วนที่บริษัทเป็นหนี้และแบ่งคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นเพียงแต่เท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าในคดีเดิมศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย เป็นผลให้คดีในส่วนของจำเลยถือเสมือนว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง นั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2540 เห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง และพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน จึงไม่ขาดอายุความส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป เป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน