แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เกษียณอายุโดยจำเลย (นายจ้าง) จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อโจทก์ (ลูกจ้าง) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โจทก์จึงพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยและสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนการแจ้งล่วงหน้าก่อนเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นแต่เพียงการกำหนดหน้าที่ให้จำเลยปฏิบัติ ไม่ใช่เงื่อนไขให้จำเลยเลือกปฏิบัติว่าจะให้ลูกจ้างคนใดเกษียณอายุหรือไม่ การที่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไปเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่กับโจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดว่าจำเลยอาจพิจารณาจ้างพนักงานที่ครบเกษียณอายุให้ทำงานต่อไปคราวละ 1 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเกษียณอายุจำนวน 55,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเกษียณอายุจำนวน 55,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานฝ่ายผลิต แผนกทำถัง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 184 บาท ปัจจุบันโจทก์อายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ แล้ว จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 11 ข้อ 2 การเลิกจ้างและการพ้นสภาพการเป็นพนักงาน ข้อ 2.3.1 กำหนดให้พนักงานที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ พ้นสภาพการเป็นพนักงานเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย (เงินเกษียณอายุ) ให้แก่โจทก์เพราะเกษียณอายุหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 11 การเลิกจ้าง การพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และการจ่ายค่าชดเชย ข้อ 2 ระบุให้การเลิกจ้างและการพ้นสภาพการเป็นพนักงานมีขึ้นในกรณีตาย ลาออก เกษียณ และการเลิกจ้าง ข้อ 2.3.1 ระบุว่า “บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานทั้งชายและหญิงที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ นับจากวันเดือนปีเกิดของพนักงานเกษียณอายุ โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้พนักงานที่เกษียณอายุทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเกษียณ” อันเป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานให้ทำงานกระทั่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะพ้นสภาพการเป็นพนักงานโดยการเกษียณอายุตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งการพ้นสภาพการเป็นพนักงานเพราะเหตุเกษียณอายุนี้มิได้เป็นการพ้นสภาพที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 3 ค่าชดเชย ข้อ 3.1.1 ถึง 3.1.4 ดังนั้น หากพนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานเพราะเหตุเกษียณอายุก็เป็นการเลิกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยตาม ข้อ 3.2.1 ถึงข้อ 3.2.5 แล้วแต่กรณี ส่วนที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 2.3.1 ระบุต่อไปว่าบริษัทฯ จะแจ้งให้พนักงานที่เกษียณอายุทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเกษียณนั้น เป็นการกำหนดหน้าที่ให้จำเลยปฏิบัติเพื่อให้พนักงานที่เกษียณอายุได้ทราบล่วงหน้าเท่านั้น มิได้เป็นเงื่อนไขให้จำเลยเลือกปฏิบัติต่อพนักงานว่าจะให้พนักงานคนใดเกษียณอายุหรือไม่ ดังนั้น หากพนักงานมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แล้วจึงต้องเกษียณอายุ สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ แต่หากจำเลยประสงค์จะให้พนักงานคนใดทำงานกับจำเลยต่อไปหลังจากเกษียณอายุแล้วก็จะเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 2.3.2 ที่ระบุว่า “หากบริษัทฯ เห็นว่า พนักงานผู้ใดที่ครบเกษียณอายุแล้วแต่ยังมีความสามารถในการปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ อย่างได้ผล บริษัทฯ อาจพิจารณาจ้างให้ทำงานต่อไปคราวละ 1 ปี” การที่จำเลยจะทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่หลังจากสัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงกับพนักงานที่ครบเกษียณอายุจึงขึ้นอยู่กับความประสงค์ของจำเลยและพนักงานทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานกันต่อไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ครบเกษียณอายุตาม ข้อ 2.3.1 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลง และโจทก์ทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันตามหมวดที่ 11 ข้อ 3 ค่าชดเชย ข้อ 3.2.5 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบการเกษียณอายุล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการเกษียณและให้โจทก์ทำงานต่อมาหลังจากครบเกษียณอายุแล้ว เป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่กับโจทก์อีก 1 ปี ตามข้อ 2.3.2 มิใช่กรณีที่โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาโดยจำเลยมิได้เลิกจ้างดังที่อุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.