แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนถูกฟ้องคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่เยาวชนที่มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ในขณะกระทำความผิดได้กระทำความผิดอาญาในลักษณะร้ายแรงตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 ศาลคดีเด็กและเยาวชนจึงจะไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อปรากฏว่าขณะกระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ จำเลยอายุไม่เกินกว่า 16 ปีบริบูรณ์ แม้ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยมีอายุ 16 ปี 3 เดือนเศษ โจทก์ต้องฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาพยายามชิงทรัพย์ จำเลยให้การรับสารภาพ ในวันสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จำเลยยื่นคำร้องว่าขณะกระทำความผิดอายุจำเลยยังไม่ถึง ๑๖ ปี ขอให้ศาลรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุไม่เกิน ๑๖ ปี ซึ่งความข้อนี้ปรากฏภายหลังที่ศาลได้ประทับฟ้อง จึงให้โอนคดีไปยังศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง เพื่อพิจารณาพิพากษา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๑๒
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความประสงค์ที่จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นก็เพื่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน จึงมีบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวน การพิจารณาและการพิพากษาคดีเป็นพิเศษผิดกับคดีธรรมดา สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ก็มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๓ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ ว่า ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีเด็กหรือเยาวชนถูกฟ้องคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่เยาวชนที่มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ได้กระทำความผิดอาญาในลักษณะร้ายแรงตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ (๑) ศาลคดีเด็กและเยาวชนจึงจะไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดี คดีนี้ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำความผิดมีอายุไม่เกินกว่า ๑๖ ปีบริบูรณ์ แม้ได้ความว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยมีอายุ ๑๖ ปี ๓ เดือนเศษแล้ว โจทก์ก็ต้องฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดี คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน