แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามคดีอาญาหมายแดงที่ 925/2545 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตามแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97 เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า แม้ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามคดีอาญาหมายแดงที่ 925/2545 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลเพียงให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย การที่จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้โดยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีลักษณะของผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือเกรงกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่าจำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว หรือมีเหตุอื่นประการใดก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อวางโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แล้ว ไม่เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.