คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กรรมต่างวาระกัน รวมจำคุก 7 ปีและปรับ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยบทหนักกรรมเดียว จำคุก 1 ปี 6 เดือน เช่นนี้ เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมโดยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น หากแต่จำเลยพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับผิดมาแต่ต้นขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์เป็นการคัดค้านดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดโทษจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนรถจักรยานสองล้อได้รับความเสียหายและผู้ขับขี่รถจักรยานสองล้อถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4,43, 69, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บิดาผู้ตายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43, 69, 157 จำเลยกระทำความผิดแล้วยังไม่รู้สำนึกและไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาผู้ตายทั้งๆ ที่บิดามารดาผู้ตายเรียกเงินเพียง30,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับการต้องเสียบุตรสาวอย่างไม่มีวันกลับเพราะความประมาทของจำเลย นอกจากนี้จำเลยยังเสริมแต่งพยานเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดโดยไม่ละอายแก่ใจในความผิดที่ก่อขึ้น จึงให้ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำคุก 7 ปี ฐานขับรถฝ่าฝืนมาตรา 43, 157พระราชบัญญัติจราจรทางบกให้ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 7 ปี ปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังต่อจากโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คู่ความจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจนเป็นที่พอใจแล้วแสดงว่าจำเลยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 7 ปีนั้นหนักเกินไปโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมโดยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้นแต่อย่างใด จำเลยกลับพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับผิดมาแต่ต้นขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าฎีกาของโจทก์เป็นการฎีกาคัดค้านดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share