แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญากู้ฉบับแรก โจทก์มิได้มอบเงินที่กู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปในคราวเดียว แต่ให้จำเลยที่ 1 เบิกเป็นคราว ๆ ตามความจำเป็น และคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นคราวตามวันที่จ่ายจริง มิใช่นับแต่วันทำสัญญากู้เงินทั้งหมด และแม้ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 2 โจทก์ก็จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นแม้ในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ทำไว้ต่อโจทก์จะมีข้อความในข้อ 1 วรรคสาม ระบุว่า “เนื่องจากการค้ำประกันตามวรรคแรกเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้นในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญานี้และ/หรือที่จะมีขึ้นใหม่ภายหน้า ผู้ค้ำประกันและธนาคารจึงตกลงกันว่าในกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ถ้าตราบใดธนาคารยังมิได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ค้ำประกันหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันและธนาคารตกลงให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันรายนี้ยังคงมีผลบังคับอยู่ เมื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ใหม่ของลูกหนี้กับธนาคารต่อไปอีกด้วย” อันแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาค้ำประกันฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 อันมีผลใช้บังคับต่อผู้ค้ำประกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 681 วรรคสอง ก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือ จำเลยที่ 5 และที่ 6 และที่ 8 อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 699 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 6 และที่ 8 ได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ฉบับที่ 2 กับโจทก์ สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป ส่วนจำเลยที่ 5 นั้น แม้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไปก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ฉบับที่ 2 แต่จำเลยที่ 5 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกอยู่ จำเลยที่ 6 และที่ 8 ในฐานะค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้องต่อโจทก์
การที่พยานหลักฐานโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระต้นเงินทั้งสองคราวนั้น ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินต่อโจทก์แล้ว จึงได้นำเงินมาหักจากต้นเงินได้ และแม้ว่าการผ่อนชำระดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับใด ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 328 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ กู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๐ นำที่ดินมาจำนอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน ๓๙,๐๕๐,๐๐๐ บาท จึงเหลือเป็นหนี้ต้นเงินค้างชำระตามสัญญาเพียง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น ไม่ใช่ ๑๗,๗๒๑,๔๗๓.๗๘ บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ตามฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ให้การทำนองเดียวกันว่า ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องรับผิดหนี้รายดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ได้จดทะเบียนปลอดจำนองให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งแสดงว่าโจทก์ได้ปลดหนี้ตามสัญญากู้เงินทุกฉบับให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว ดังนั้น หนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยบางส่วนหรือทั้งหมดจำเลยที่ ๑ ได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ได้ โจทก์มีที่ดินของจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ จำนองเป็นประกันหนี้ไว้อีกด้วย ซึ่งหลักประกันดังกล่าวท่วมหนี้ตามฟ้องมากมาย ดังนั้นโจทก์จึงยังฟ้องให้จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามฟ้องไม่ได้ หนี้เงินกู้ตามฟ้องแม้จะมีกำหนดเวลาชำระหนี้โดยแน่ชัด แต่การปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้โดยจำเลยที่ ๑ จะชำระหนี้ให้โจทก์ขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารและโจทก์ปลดจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นแปลง ๆ ไป ซึ่งไม่ใช่ตามกำหนดสัญญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่ประสงค์จะชำระหนี้กันตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินตามฟ้อง แต่ถือปฏิบัติการชำระหนี้ตามวิธีดังกล่าว หนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการชำระต่อเนื่องหลายคราวไม่จำกัดเวลา จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ ต่อมาได้ขายหุ้นและพ้นจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ ดังนั้น หนี้ใด ๆ ของจำเลยที่ ๑ ที่ได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ โดยเฉพาะหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ โจทก์จึงเรียกร้องจากจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๐ ให้การว่า สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑๐ มิได้ระบุจำนวนเงินที่จำนองเป็นเงินตราไทยและมิได้ระบุเงื่อนไขข้อตกลงใด ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑๐ ทั้งมิได้ระบุจำนวนหนี้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑๐ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ และที่ ๙ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๗,๗๒๑,๔๗๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๗๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้การคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน ๒,๐๑๑,๘๗๒.๗๙ บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๔๗๘ ตำบลสุริยวงศ์ อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๔ ตำบลแสนสุข (หนองบอน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งสิบใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๒ จำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยโดยชำระทุกเดือนในอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี กำหนดชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๔ ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๖ ถึง จ.๘ จำเลยที่ ๑ รับเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีก ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกเดือนกำหนดชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๓๙ ถึง จ.๔๑ จำเลยที่ ๑ รับเงินตามสัญญากู้เงินฉบับที่ ๒ ไปแล้วเป็นเงิน ๑๐,๒๒๔,๐๐๐ บาท การกู้เงินตามสัญญาฉบับแรก จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๒๗ ถึง จ.๓๓ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตามสัญญาฉบับที่ ๒ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๕๒ ถึง จ.๕๔ การกู้เงินตามสัญญาทั้งสองฉบับ จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ได้นำที่ดินมาจำนองไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินตามสัญญากู้เงินฉบับที่ ๒ ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าการกู้เงินตามสัญญาฉบับแรกจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น โจทก์มิได้มอบเงินตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยที่ ๑ รับไปในคราวเดียว แต่ให้จำเลยที่ ๑ มาเบิกเงินไปจากโจทก์เป็นคราว ๆ หลายครั้งตามความจำเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์จะคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นคราวตามวันที่จ่ายจริง มิใช่นับแต่วันทำสัญญากู้เงินทั้งหมด และแม้ต่อมาเมื่อจำเลยที่ ๑ มาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกเป็นครั้งที่สอง จำนวนเงิน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ก็จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ ๑ ในลักษณะเดียวกันคือจ่ายให้เป็นคราว ๆ ตามที่จำเลยที่ ๑ ขอเบิก ดังนั้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ทำไว้ต่อโจทก์ฉบับลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๒ จะมีข้อความในข้อ ๑ วรรคสาม ระบุว่า “เนื่องจากการค้ำประกันตามวรรคแรกเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะทำสัญญานี้และ/หรือที่จะมีขึ้นใหม่ในภายหน้า ผู้ค้ำประกันและธนาคารจึงตกลงกันว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ถ้าตราบใดธนาคารยังมิได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ค้ำประกันหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันและธนาคารตกลงให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันรายนี้ยังคงมีผลบังคับอยู่ เพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ใหม่ของลูกหนี้กับธนาคารต่อไปอีกด้วย หนี้ใหม่ดังกล่าวนี้หมายถึง บรรดานิติกรรมที่ลูกหนี้จะพึงเป็นหนี้ต่อธนาคารตามความในวรรคแรกดังกล่าวข้างต้น” อันแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาค้ำประกันฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ ๑ อันมีผลใช้บังคับต่อผู้ค้ำประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๑ วรรคสอง ก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้คือธนาคารโจทก์ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๙ ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ ๖ และที่ ๘ ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ ตามเอกสารหมาย ล.๒๔ และ ล.๒๙ ขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๖ และที่ ๘ ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญากู้เงินฉบับที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ทำกับโจทก์หลังจากวันที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๘ บอกเลิกการค้ำประกันไปแล้วหาได้ไม่ สำหรับจำเลยที่ ๕ นั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ ๕ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ไปก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ฉบับที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๕ เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๕ ตามเอกสารหมาย ล.๒๗ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินฉบับที่ ๒ กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๕ จึงยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินครั้งที่ ๒ ของจำเลยที่ ๑ ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด สำหรับจำเลยที่ ๖ และที่ ๘ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ ๖ และที่ ๘ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ ๒ แล้ว คงมีปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกไปแล้วเพียงใด โจทก์มีนางวิภาวี บูรณสมภพ และนายสัญญา กฤชเพ็ชร มาเบิกความประกอบเอกสารบัญชีลูกหนี้รายบุคคลเอกสารหมาย จ.๙ ได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินโจทก์ฉบับที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ได้รับเงินจากโจทก์เป็นคราว ๆ ไปตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๒ จนถึงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๓ จึงรับเงินไปครบจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ ๑ มีการชำระดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ต้นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ ชำระต้นเงินอีกจำนวน ๒๒,๓๐๒,๕๒๖.๒๒ บาท ซึ่งการที่พยานหลักฐานโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ ๑ ได้ชำระต้นเงินทั้งสองคราวนั้น ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ค้างชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินต่อโจทก์แล้ว จึงได้นำเงินมาหักจากต้นเงินได้และแม้ว่าการผ่อนชำระดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับใด ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๘ วรรคสอง ดังนั้นจำเลยที่ ๑ ยังคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกอยู่เป็นเงิน ๗,๔๙๗,๔๗๓.๗๘ บาท จำเลยที่ ๖ และที่ ๘ จะต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้องต่อโจทก์ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๖ และที่ ๘ ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับจำเลยที่ ๕ นั้นต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในหนี้ตามสัญญากู้เงินครั้งที่ ๒ ด้วย เมื่อปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์คือบัญชีลูกหนี้เอกสารหมาย จ.๙ แผ่นที่ ๖ ว่าในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นต้นเงิน๑๗,๗๒๑,๔๗๓.๗๘ บาท และยังไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๕ ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ ๕ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปแล้ว คงเหลือต้นเงินที่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง ๑,๔๒๘,๐๘๐ บาท นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ก็มิได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้นจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในหนี้ตามฟ้องต่อโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๕ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๖ และที่ ๘ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗,๔๙๗,๔๗๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๗๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
นางสุรีพร อัชฌานนท์ ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน ผู้ช่วยฯ/ตรวจ