คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นเข้าสอบเลื่อนตำแหน่งแทน เป็นการทุจริตในการสอบซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอยู่ในตัว จึงถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินับอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิปลดโจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตลอดจนค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานของจำเลยมานานคนละกว่า ๑๐ ปี จำเลยได้มีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดและโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยทุจริตในการสอบอันถือว่าเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำโดยจงใจให้จำเลยเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิปลดโจทก์ทั้งสามออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ทั้งไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสามรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นเข้าทำการสอบแทนเป็นการทุจริตในการสอบการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรงอยู่ในตัว จึงถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับจำเลยฉบับที่ ๓ ว่าด้วยการบรรจุ ฯลฯ พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๖๒ ที่ว่า ‘พนักงานและลูกจ้างผู้ใด ….หรือกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง’ ซึ่งเมื่อโจทก์ทั้งสามกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลดโจทก์ทั้งสามออกจากงานได้ตามข้อ ๗๑ ข้อบังคับเดียวกัน และยังได้ความด้วยว่า ก่อนที่จำเลยจะมีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสามออกจากงานนั้น จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทั้งสามในความผิดที่ถูกกล่าวหาตามข้อบังคับของจำเลยโดยชอบแล้ว โจทก์ทั้งสามจะอ้างว่าเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นธรรมย่อมฟังไม่ขึ้น เมื่อการกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตลอดจนค่าเสียหาย
พิพากษายืน.

Share