คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลูกกรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยจึงเป็นของจำเลย สัญญาซื้อขายที่ดินไม่มีข้อความระบุว่าได้ขายต้นอ้อยในที่ดินนั้นแก่ผู้เสียหายข้อตกลงซึ่งทำไว้กับพนักงานสอบสวนว่า จะไปแบ่งแยกที่ดินกันหลังฤดูหีบอ้อยก็ดีและยอมให้ตอ อ้อยตกเป็นของผู้เสียหายก็ดี แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายที่ดินน่าจะไม่รวมถึงการขายต้นอ้อยในที่ดินดังกล่าวด้วย การขายที่ดินย่อมไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยโอนไปเป็นของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยตัดต้นอ้อยดังกล่าวไปจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335(1)(12), 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(12) จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามมาตรา 78 คงจำคุก9 เดือน และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 นายช่วงสามีจำเลยได้ทำสัญญาขายที่ดินบางส่วนเนื้อที่ 42 ไร่ 1 งาน 32 วาแก่ผู้เสียหาย โดยไยังไม่ได้ไปทำการแบ่งแยกที่ดินกัน ขณะทำสัญญาซื้อขายจำเลยปลูกต้นอ้อยไว้ในที่ดินนั้นแล้ว ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ตัดอ้อยบางส่วนในที่ดินแปลงที่ขายแก่ผู้เสียหายไป มีปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฎีกาของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายมาเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากฤดูหีบอ้อยแล้วจะไปแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อขายกันที่อำเภอ ร้อยตำรวจตรีภัคธร เนตรสว่าง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยได้ไปพบร้อยตำรวจตรีภัคธรขอให้ทำบันทึกให้ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย จ.8ซึ่งมีข้อความว่า ผู้เสียหายให้จำเลยและสามีเช่าที่ดิน 25 ไร่ 3 งานไร่อ้อย โดยผู้เสียหายเป็นคนออกทุนให้รวมทั้งที่ดินอีก 37 ไร่ ของจำเลยด้วย ซึ่งฤดูหีบอ้อยปีนั้นจำเลยและสามีจะนำอ้อยที่ตัดมาเข้าโควต้าผู้เสียหาย และผู้เสียหายจะจ่ายเงินตามจำนวนอ้อยที่เข้าโควต้า เมื่อหมดฤดูหีบอ้อยแล้ว ตออ้อยทีเ่หลือในที่ดินทั้ง 2 แปลงยกให้เป็นของผู้เสียหาย พร้อมกับยกที่ดินจำนวน 37 ไร่ ให้แก่ผู้เสียหายเพื่อเป็นการชำระหนี้สินที่ค้างกันอยู่ 300,000 บาทเศษดังนี้ การที่ตกลงจะไปแบ่งที่ดินกันที่อำเภอหลังฤดูหีบอ้อยแล้วก็ดีการยอมให้ตออ้อยตกเป็นของผู้เสียหายก็ดี แสดงให้เห็นว่าการซื้อขาย>ที่ดินกันระหว่างผู้เสียหายกับสามีของจำเลยน่าจะไม่รวมถึงการขายต้นอ้อยในที่ดินดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏตามสัญญาการซื้อขายที่ดิน เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งทำกันในวันเดียวกับที่จำเลยและผู้เสียหายไปพบร้อยตำรวจตรีภัคธรว่า สามีของจำเลยได้ขายที่ดินจำนวน 42 ไร่1 งาน 32 วา แก่ผู้เสียหายในราคา 300,000 บาท เท่านั้น มิได้มีข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุว่าได้ขายต้นอ้อยในที่ดินนั้นแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด คงมีแต่คำของผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามติงของโจทก์เท่านั้นว่าจเลยตกลงขายต้นอ้อยแก่ผู้เสียหายด้วยข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยหรือสามีได้ขายต้นอ้อยแก่ผู้เสียหาย และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยกับสามีได้ขายที่ดินที่ปลูกต้นอ้อยแก่ผู้เสียหายแล้วก็ตาม แต่ต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลูกกรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยจึงเป็นของจำเลย การขายที่ดินย่อมไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยโอนไปเป็นของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยตัดต้นอ้อยดังกล่าวไป จึงหาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ไม่…”
พิพากษายืน คืนของกลางแก่เจ้าของ.

Share