แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ. 2517 มิได้ให้ความหมายของคำว่าอาหารหรือเครื่องดื่มไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปของคำดังกล่าวจะถือตามความหมายของกฎหมายอื่นไม่ได้ น้ำนมถั่วเหลืองแลคตาซอยไม่ใช่ของกินที่มีลักษณะเพื่อค้ำจุนชีวิตหรือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตจึงไม่ใช่อาหารแต่เป็นเครื่องดื่มเพราะสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำ แม้จะมีส่วนผสมคือ ถั่วเหลือง น้ำตาล นมผง และไขมันพืชอยู่ด้วยถึงร้อยละ 21.2 และมีคำว่า ‘อาหารเสริม’ อยู่ที่กล่องบรรจุก็ตาม ก็แสดงเพียงว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของอาหารอยู่ด้วยเท่านั้น ไม่ใช่ ‘อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร’ ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(4) ข ท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว และไม่เป็น ‘อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว’ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(10) ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำนมถั่วเหลืองแลคตาซอยจึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบการค้าผลิตและจำหน่ายน้ำนมถั่วเหลืองแลคตาซอยซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากถั่วเหลืองและเป็นการผลิตในราชอาณาจักรได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้า แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าในช่วงปี พ.ศ. 2524 – 2528 จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า สินค้าของโจทก์เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ฯ (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2517 จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้า การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าน้ำนมถั่วเหลืองแลคตาซอยซึ่งโจทก์ผลิตออกจำหน่าย โดยบรรจุในกล่องปิดผนึกตีตราและเครื่องหมายการค้า เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุภาชนะที่มีชื่อการค้าและเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก ตามบัญชีที่ 1หมวดที่ 1 (4) ข. ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 ซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าหรือไม่เห็นว่า เมื่อบัญชีดังกล่าวมิได้ให้ความหมายของคำว่า อาหารหรือเครื่องดื่มไว้จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปของคำดังกล่าว จะถือตามความหมายของกฎหมายอื่นไม่ได้ตามความหมายทั่วไปนั้นน้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์ไม่ใช่ของกินที่มีลักษณะเพื่อค้ำจุนชีวิตหรือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตจึงไม่ใช่อาหาร แต่น่าจะเป็นเครื่องดื่มเพราะสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำ และแม้น้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์มีส่วนผสมคือ ถั่วเหลืองน้ำตาลทรายขาว นมผง และไขมันพืช ซึ่งอาจจัดอยู่ในจำพวกอาหารอยู่ด้วยถึงร้อยละ 21.2 ก็ตาม ก็แสดงเพียงว่ามีส่วนผสมของอาหารอยู่ด้วย จึงจัดอยู่ในประเภทเครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์จึงไม่อยู่ในบัญชีที่ 1 หมวด 1(1) (ข) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพราะไม่ใช่อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร คำพิพากษาฎีกาที่1134/2524 ที่จำเลยอ้างมาเป็นเรื่องนมสดเปรี้ยวยาคูลท์ ซึ่งประกอบด้วยนมสดเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 52 จึงถือเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
มีปัญหาต่อไปว่า น้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์จะได้รับยกเว้นภาษีการค้าเพราะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งหรือถั่วที่ผลิตขายในประเทศไทยแต่ไม่ได้นำเข้าในราชอาณาจักร ตามบัญชีที่ 1หมวด 1 (10) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า น้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์ไม่ใช่อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จึงไม่อาจเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วตามบัญชีที่ 1 หมวด 1 (10) ดังจำเลยทั้งสี่ฎีกา เมื่อน้ำนมถั่วเหลืองของโจทก์ไม่ใช่อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(4) (ข) และไม่ใช่อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(10) ดังได้วินิจฉัยมาแล้วแม้โจทก์จะมีคำว่า ‘อาหารเสริม’ ระบุไว้ที่กล่าวกระดาษที่บรรจุน้ำนมถั่วเหลืองก็หาทำให้น้ำนมถั่วเหลืองกลายเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น น้ำนมถั่วเหลืองแลคตาซอยของโจทก์จึงเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
พิพากษายืน.