คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างซึ่งจำเลยรับเข้าทดลองทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ก็ถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงจำเลยต้องออกใบสำคัญการทำงานให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,190 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยออกใบสำคัญรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่าโจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงไล่โจทก์ออกจากงานและได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 1 เดือน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยและให้จำเลยออกใบสำคัญรับรองการผ่านงานให้
ในวันนัดพิจารณาโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานหรือใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่าจำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองหรือใบสำคัญการทำงานให้โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องออกหนังสือรับรองหรือใบสำคัญการทำงานดังกล่าวให้โจทก์ เพราะจำเลยเพียงแต่รับโจทก์เข้าทดลองทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า “เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร” ดังนี้ แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างซึ่งจำเลยรับเข้าทดลองทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ก็ถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างตามบทบัญญัติมาตรานี้แล้ว จำเลยต้องออกใบสำคัญการทำงานดังกล่าวให้โจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share