แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนบ้านและที่พิพาทแก่จำเลยที่1ในนามจำเลยที่1เป็นผู้รับมรดกเองเพื่อความสะดวกในการที่จะขายเอาเงินมาแบ่งปันกันยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นการจัดการมรดกจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อได้แบ่งเงินราคาขายกันแล้วเมื่อยังไม่ได้แบ่งเงินราคาขายแก่ทายาทการจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้นลงอายุความยังไม่เริ่มนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสอง จำเลยที่1ขายบ้านและที่ดินทรัพย์มรดกให้จำเลยที่2โดยชอบไม่อาจเพิกถอนได้โจทก์จึงไม่อาจขอให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของคงมีสิทธิเพียงได้รับส่วนแบ่งเงินค่าขายทรัพย์มรดกดังกล่าวตามราคาที่ขายไปเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นบุตรนายสุด นางพยุงทองกลั่น นายสุดถึงแก่กรรมเมื่อปี 2520 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 36099 พร้อมบ้านเลขที่ 66/4 ราคาปัจจุบันรวมกัน2,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก ทายาททุกคนเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อทายาททุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1เบียดบังเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียว และต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2529จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดกโดยทุจริต นางพยุงมารดาถึงแก่กรรมเมื่อปี 2535 ครั้นเดือนเมษายน 2536 จำเลยที่ 2พูดจาขับไล่โจทก์ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาแต่ดั้งเดิมขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดก และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน โดยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ให้มีสิทธิตามส่วนดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งให้โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1 ใน 6 ส่วนของราคา คิดเป็นเงิน333,334 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายสุดเจ้ามรดกได้นำบ้านและที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ขณะนายสุดถึงแก่กรรมยังเป็นลูกหนี้ธนาคารอยู่อีกประมาณ 48,000 บาท บรรดาทายาทรวมทั้งโจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารและตกลงให้ขายบ้านกับที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 150,000 บาทขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมบ้านและที่ดินพิพาทมีราคา 200,000 บาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงจดทะเบียนโอนขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2529 และแบ่งปันเงินระหว่างทายาทรวมทั้งโจทก์ก็ได้รับส่วนแบ่ง การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันจดทะเบียนโอนขายดังกล่าว โจทก์ฟ้องเกินกว่า5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 278,571.42 บาทแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องขาดอายุความ 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองหรือไม่ ปรากฎตามรายการจดทะเบียนหลังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.8ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ในนามจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกเองแต่ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นอันจะเป็นเหตุให้เริ่มนับอายุความมรดก เพราะตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลได้ความว่า เหตุที่จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวก็เพื่อความสะดวกในการที่จะขายเอาเงินมาแบ่งปันกัน ดังนี้การจัดการมรดกจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อได้แบ่งเงินราคาขายกันแล้วโจทก์เบิกความยอมรับว่า ยังไม่ได้แบ่งเงินราคาขายแก่ทายาทดังนั้น การจัดการมรดกจึงไม่เสร็จสิ้น ฟ้องไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากราคาขายทรัพย์มรดกเพียงใด โจทก์ฎีกาขอให้แบ่งโดยถือว่าบ้านและที่ดินพิพาทมีราคา 2,000,000 บาท ปรากฎตามข้ออ้างของโจทก์ว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่าไม่ถูกต้องเพราะความจริงจะต้องแบ่งจากเงินที่ขายทรัพย์มรดกได้ซึ่งมีจำนวน150,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ใน 6 ส่วน เป็นเงิน 25,000 บาทที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ต้องออกเงินส่วนตัวไถ่ถอนจำนอง 30,000 บาท เห็นว่าเลื่อนลอย ไม่มีเหตุที่จะคิดหักให้และคดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์มรดกในราคาต่ำผิดปกติซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบชำระแก่โจทก์เพิ่มขึ้นในราคาเต็มที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองเบียดบังยักยอกทรัพย์มรดก รับฟังไม่ได้เพราะเป็นเรื่องซื้อขายทรัพย์มรดกกันตามปกติธรรมดา โดยมีหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องไปกู้เงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้นสังกัดของจำเลยที่ 2 จำนวน150,000 บาท เพื่อนำมาชำระราคาค่าซื้อบ้านและที่ดินพิพาท แล้วนำบ้านและที่ดินพิพาทจำนองแก่เจ้าหนี้ไว้เป็นประกัน ดังนี้ให้เชื่อได้ตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่า นางพยุงมารดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวรู้เห็นยินยอมในการซื้อขายโดยตลอด เมื่อการซื้อขายเป็นไปโดยชอบ ศาลก็ไม่อาจสั่งเพิกถอนได้ และเมื่อทรัพย์มรดกตกไปเป็นของผู้ซื้อเสียแล้ว ก็ไม่เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมด้วยได้ โจทก์คงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากเงินค่าขายทรัพย์มรดกจำนวน 25,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เท่านั้นจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 25,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2