คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3173/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีในสำนวนที่สองศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 49,150 บาท ฎีกาของโจทก์ในสำนวนที่สองจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีในสำนวนแรกเมื่อวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียวแล้ว จึงทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในสำนวนที่สองที่ว่า นาย ว. ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยมีส่วนประมาทหนึ่งในสามส่วน และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทสองในสามส่วน ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคแรก โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในสำนวนที่สอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยหาได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และนาง บ. เป็นตัวแทนในการนำรถไปประกอบการขนส่งส่วนบุคคลในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดนั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ถึงแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยให้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการไม่ชอบ การที่โจทก์ยังคงฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในเนื้อหาดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
แม้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ประเด็นในชั้นฎีกามีเพียงว่า นาย ว. ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่เท่านั้น จึงไม่จำต้องรอฟังผลคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกนายประเสริฐ พลสิทธิ์ จำเลยที่ 1 สำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 เรียกนางสาวแววตา พิมพา จำเลยที่ 2 สำนวนแรก และบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 3 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตามลำดับ ส่วนนางสุคนธ์ อุ้ยเอ้ง จำเลยที่ 1 สำนวนหลัง โจทก์สำนวนหลังขอถอนฟ้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะรวมพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังออกจากสารบบความ
โจทก์สำนวนแรกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 725,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 700,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 254,429 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 สำนวนหลังให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 384,183 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าคดีในสำนวนที่สองศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 49,150 บาท ฎีกาของโจทก์ในสำนวนที่สองจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยหาได้รรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันฟังยุติว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และนางบุญศรี รัชพงษ์ไทย เป็นตัวแทนในการนำรถไปประกอบการขนส่งส่วนบุคคลในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดนั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ถึงแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยให้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการไม่ชอบ การที่โจทก์ยังคงฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในเนื้อหาดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
อนึ่ง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้รอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดเสียก่อน แล้วจึงพิพากษาคดีในส่วนแพ่งของศาลฎีกาคดีนี้ เห็นว่า แม้การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ประเด็นในชั้นฎีกามีเพียงว่า นายเวชผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่เท่านั้น จึงไม่จำต้องรอฟังผลคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ยกคำร้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ยกฎีกาของโจทก์สำหรับสำนวนที่สอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share