คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พวกของจำเลยได้กระชากสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปในระหว่างที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง เป็นเจตนาทุจริตของพวกจำเลยที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำร้ายเฉพาะหน้าจำเลยอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยไม่คาดคิดมาก่อน และไม่ทราบว่าพวกของจำเลยมีอาวุธมีดที่ใช้ฟันผู้เสียหายที่ 2 ติดตัวมาด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการกระทำของพวกจำเลย จำเลยจึงไม่ได้ร่วมมีเจตนาทุจริตกับพวกจำเลยด้วย จำเลยไม่ต้องรับผลในการกระทำของพวกจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยกับพวกใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายทั้งสอง แม้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่เนื่องจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อคดีนี้จำเลยกระทำผิดวันที่ 3 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ซึ่งเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 11,600 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 11 ปี 3 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 11,600 บาท รวมเป็นเงิน 23,200 บาท ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 2 จูงรถจักรยานออกจากบ้าน จำเลยขับรถแท็กซี่มาจากทางดาวคะนองมุ่งหน้าจะไปทางวัดสิงห์ผ่านมาจนเกือบจะชนรถจักรยานของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยและนายวินัยกับพวกที่นั่งมาในรถยนต์แท็กซี่ลงมาด่าโต้ตอบกับผู้เสียหายที่ 2 ต่อหน้านางยุพินมารดาผู้เสียหายทั้งสอง จนถึงขึ้นจะทำร้ายซึ่งกันและกัน พอดีมีเจ้าพนักงานตำรวจจราจรซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้นเข้ามาห้ามปรามทั้งสองฝ่ายจึงหยุดและแยกย้ายกันกลับไป ต่อมาประมาณครึ่งชั่วโมง จำเลยย้อนกลับมาที่หน้าบ้าน ผู้เสียหายทั้งสองและเรียกนางยุพินออกมาจากบ้านนางยุพินกับจำเลยได้พูดคุยกันอยู่สักครู่หนึ่งผู้เสียหายทั้งสองจึงตามออกมาแล้วเกิดชุลมุนชกต่อยกับจำเลยและพวกอีก 4 ถึง 5 คน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกพวกจำเลยคนหนึ่งใช้มีดฟันที่บริเวณเอวด้านหลังได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกพากันหลบหนี ปรากฏว่าสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายทั้งสองสวมอยู่หายไป มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกปล้นทรัพย์เอาสร้อยคอของผู้เสียหายทั้งสองไปหรือไม่ เห็นว่า การที่พวกของจำเลยได้กระชากสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปในระหว่างที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทุจริตของพวกของจำเลยที่เกิดขึ้นในระหว่างทำร้ายเฉพาะหน้าจำเลยอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยจำเลยไม่คาดคิดมาก่อน และไม่ทราบด้วยว่าพวกจำเลยคนใดคนหนึ่งมีอาวุธมีดหรืออาวุธอื่นใดมาด้วย ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้ร่วมมีเจตนาทุจริตกับพวกของจำเลยด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผลจากการกระทำของนายวินัยกับพวกทั้งสองกรณี การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่การที่จำเลยชกผู้เสียหายที่ 1 หลังจากนายวินัยชกผู้เสียหายที่ 1 แล้วนั้น ต้องถือว่าจำเลยเริ่มเข้าร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ในบัดนั้น อันเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 และเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยกับพวกใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายทั้งสอง แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องก็ตาม เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่เนื่องจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 เกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน.

Share