คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3168/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์กับพวกพาผู้หญิงไทยสองคนซึ่งใช้หนังสือเดินทางของบุคคลอื่นเพื่อเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้โจทก์กับ ส. และผู้หญิงไทยทั้งสองคนเข้าประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบบริหารงานบุคคลของบริษัทจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยมิได้ดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและสั่งการต่อไปภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือมิได้ขอขยายเวลาสอบสวนตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลข้อ 17.4 หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้ดำเนินการพิจารณาและ/หรือสอบสวนและพิจารณาให้แล้วเสร็จ แล้วรายงานต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์และมิได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาพิจารณาตามระเบียบดังกล่าวข้อ 24.3 ก็ย่อมไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือของจำเลยที่ กบ. 02-1-01/780 และหนังสือที่ กบ.02-1-01/829 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิมกับให้นับอายุงานต่อเนื่อง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 800,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีเหตุที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวของจำเลย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยกล่าวหาว่าโจทก์พาผู้หญิงไทยที่ใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นซึ่งไม่เป็นความจริง ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์กับพวกพาผู้หญิงไทยสองคนซึ่งใช้หนังสือเดินทางของบุคคลอื่นเพื่อเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้โจทก์กับนายสุทธิมาศและผู้หญิงไทยทั้งสองคนเข้าประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบบริหารงานบุคคลของบริษัทจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยมิได้ดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและสั่งการต่อไปภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือมิได้ขอขยายเวลาสอบสวนตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลข้อ 17.4 หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้ดำเนินการพิจารณาและ/หรือสอบสวนและพิจารณาให้แล้วเสร็จ แล้วรายงานต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ และมิได้ขออนุมัติขยายเวลาพิจารณาตามระเบียบดังกล่าวข้อ 24.3 ก็ย่อมไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

Share