คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยก็โดยอาศัยข้ออ้างที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันและเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะยกขึ้นว่ากล่าวในคดีเดิมได้ เมื่อศาลในคดีเดิมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 3 คดีนี้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจนำประเด็นเรื่องว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3 ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันมารื้อร้องฟ้องกันอีก แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 พ่วงเข้ามาในคดีนี้อีกแต่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามเพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์ ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 235 เล่ม 3 หน้า 35 อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และให้ขับไล่จำเลยที่ 3 กับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการทำนาปีละ 20,000 บาท ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 3 และบริวารจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยถูกจำเลยที่ 3 ฟ้องเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 683/2536 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีโดยกักขังโจทก์ในคดีนี้เพราะไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่เคยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์มาให้จำเลยที่ 3 แต่อย่างใด การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในที่ดินพิพาทซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 683/2536 ของศาลชั้นต้น โดยเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นเหตุให้คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 683/2536 ของศาลชั้นต้น ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาหรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 683/2536 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิฉบับเดียวกับที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ และในคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและชำระเงินให้จำเลยที่ 3 รวมทั้งเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์คดีนี้และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4 – 01 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 3 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาด้วยก็โดยอาศัยข้ออ้างที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันและเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะยกขึ้นว่ากล่าวในคดีเดิมได้ ดังนั้น เมื่อศาลในคดีเดิมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 3 คดีนี้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจนำประเด็นเรื่องว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3 ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันมารื้อร้องฟ้องกันอีก แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 พ่วงเข้ามาในคดีนี้อีกแต่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามเพราะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share