คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายไป จำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวมิได้สูญหายไป แต่ อ. เป็นผู้เอาไปจากตู้เก็บเอกสารของก. และไม่ยอมคืนให้จำเลยเพราะอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์และจำเลยทราบจากเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกว่าทางราชการจะออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้เจ้าของรถใหม่ต่อเมื่อฉบับเก่าสูญหายโดยมีหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจมาแสดงเมื่อเป็นความประสงค์ของจำเลยเองที่ต้องการให้ทางราชการออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยใหม่โดยจำเลยไม่ต้องเสียเวลาในการฟ้องร้อง อ. จำเลยจึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายไปอันเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ครบองค์ประกอบในความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 บัญญัติไว้เพราะหากกรมการขนส่งทางบกเชื่อว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายไปจริงตามที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนทางราชการก็จะต้องออกเอกสารดังกล่าวฉบับใหม่ขึ้นแทนซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนทางทะเบียนเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก พนักงานสอบสวนและประชาชนทั่วไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอดิศา หุ่นอารักษ์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จำคุก 3 เดือน ปรับ 900 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 เดือนปรับ 600 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานนางอดิศาหรือหัชณีย์ หุ่นอารักษ์ ย่อมไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมเสีย และวินิจฉัยว่าจำเลยได้ทวงถามใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แล้วแต่นางอดิศาปฏิเสธดังนั้น แม้จำเลยจะทราบว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อยู่ในความครอบครองของนางอดิศาแต่ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายเพื่อจะได้นำหลักฐานการแจ้งความไปแสดงขอให้นายทะเบียนออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ฉบับใหม่การกระทำของจำเลยก็ไม่ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกนรเมนทร์วิจิตรรัตนะ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ท-8600 กรุงเทพมหานครซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้จำเลยได้หายไปในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ตามแบบเรื่องราวขออนุญาตและรายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 นั้น จำเลยทราบหรือไม่ว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวอยู่ที่นางอดิศามิได้สูญหายไปตามที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าหากจำเลยเชื่อว่านางอดิศาไม่เห็นเอกสารดังกล่าวจริง เพราะอาจสูญหายไปจำเลยก็คงไม่แจ้งความดำเนินคดีแก่นางอดิศาในข้อหาลักทรัพย์โฉนดที่ดินและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆตามที่ปรากฏในสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1540/2536คดีหมายเลขแดงที่ 3477/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลย ซึ่งตามสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวได้ความว่าจำเลยในฐานะผู้เสียหายและโจทก์ร่วมกล่าวหาว่านางอดิศาลักโฉนดที่ดินและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ ไปเมื่อวันที่23 มิถุนายน 2535 ซึ่งแสดงว่าจำเลยเชื่อตามคำบอกกล่าวของนายพูลสวัสดิ์ว่านางอดิศาเป็นผู้เอาเอกสารดังกล่าวไปจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่นางอดิศาในข้อหาลักทรัพย์ หาได้เชื่อว่าเอกสารเหล่านี้สูญหายไปเป็นเหตุให้นางอดิศาหาไม่พบตามที่นางอดิศาบอกจำเลย ทั้งได้ความจากนางอดิศาตอบโจทก์ซักค้านว่าหลังจากสามีพยานถึงแก่ความตาย จำเลยมาสอบถามพยานว่ายังคงเก็บเอกสารใบโอนลอยที่ดินและรถยนต์ไว้หรือไม่จะขอคืน พยานตอบว่าไม่คืนให้เพราะเป็นของพยาน และเห็นว่าการที่นางอดิศาไม่ยอมคืนเอกสารดังกล่าวให้จำเลยโดยอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของนั้นย่อมแสดงว่าโฉนดที่ดินและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยังคงอยู่ที่นางอดิศาและพร้อมที่จะโอนเป็นของนางอดิศาได้โดยอาศัยใบโอนลอยดังกล่าว นางอดิศาจึงไม่ยอมคืนใบโอนลอยที่ดินและรถยนต์ให้จำเลยทำให้น่าเชื่อว่าเมื่อจำเลยทวงถามใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นางอดิศาก็คงตอบจำเลยในลักษณะเดียวกันว่ารถยนต์เป็นของตนและไม่ยอมคืนเอกสารดังกล่าวให้จำเลยเช่นเดียวกันไม่น่าเชื่อว่านางอดิศาจะตอบจำเลยว่าไม่เห็นเอกสารดังกล่าวซึ่งอาจถือได้ว่าสูญหายไปตามที่จำเลยแจ้งความ เมื่อได้ความจากจำเลยตอบโจทก์ซักค้านว่า จำเลยทราบว่านางอดิศาเอาเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์และโฉนดที่ดินไปตั้งแต่ประมาณวันที่ 26 ถึง 27มิถุนายน 2535 และพยานหลักฐานของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่านางอดิศาบอกจำเลยว่านางอดิศาไม่เห็นเอกสารดังกล่าวตามที่วินิจฉัยมาแล้วพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าก่อนจำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 กรกฎาคม 2535 ว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายไป ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวมิได้สูญหายไป แต่นางอดิศาเป็นผู้เอาไปจากตู้เก็บเอกสารของนายกุลเศรษฐ์และไม่ยอมคืนให้จำเลยเพราะอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ และจำเลยอาจทราบจากเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกว่าทางราชการจะออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้เจ้าของรถใหม่ต่อเมื่อฉบับเก่าสูญหายโดยมีหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจมาแสดง ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกจะแนะนำให้จำเลยไปแจ้งความ ทั้ง ๆ ที่ทราบจากจำเลยว่าเอกสารดังกล่าวมิได้สูญหาย แต่ยังคงอยู่ที่นางอดิศาเพราะจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกคืนได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของอยู่แล้วน่าเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของจำเลยเองที่ต้องการให้ทางราชการออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยใหม่ โดยจำเลยไม่ต้องเสียเวลาในการฟ้องร้องนางอดิศา จำเลยจึงแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกนรเมนทร์พนักงานสอบสวนว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สูญหายไปอันเป็นความเท็จการกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ครบองค์ประกอบในความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 บัญญัติไว้ เพราะหากกรมการขนส่งทางบกเชื่อว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ห-8600 กรุงเทพมหานครสูญหายไปจริงตามที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ทางราชการก็จะต้องออกเอกสารดังกล่าวฉบับใหม่ขึ้นแทน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนทางทะเบียนเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและประชาชนทั่วไปได้จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share