คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า จากไป พาเอาไปเสียจาก แยกออกจากกันหรือเอาออกจากกัน ดังนั้น คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
การที่จำเลยจูงเด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องโดยมิได้ใช้แรงฉุด แล้วให้นั่งรออยู่คนเดียวประมาณ 20 นาที ระหว่างนั้นเด็กหญิง ส. สามารถที่จะกลับบ้านได้และเด็กหญิง ส. เคยไปนั่งเล่นในห้องนอนจำเลยบ่อย ๆ พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่า การที่เด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องนอนจำเลยและอยู่ในห้องนอนจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลานานนั้นเป็นไปด้วยความเต็มใจของเด็กหญิง ส. เนื่องจากเด็กหญิง ส. ชอบพอจำเลยมากกว่าที่จะถูกชักชวนและจูงจากจำเลยเพราะเด็กหญิง ส. สามารถที่จะไม่ไปตามที่จำเลยจูงก็ได้เนื่องจากจำเลยมิได้ใช้กำลังและสามารถที่จะกลับบ้านตนเองได้ระหว่างที่อยู่คนเดียว เนื่องจากไม่มีอะไรมาขัดขวางการกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะพาไปหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของมารดาเด็ก อันทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน จึงไม่เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 279, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหาย(ที่ถูกเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี) จำคุก 1 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ (ที่ถูกเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี) เพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 6 ปี คำให้การสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคแรก ให้ปรับ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ (ที่ถูกตลอดระยะเวลาที่คุมประพฤติ) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเด็กหญิงสุพรรณษาเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานไปงานศพเพื่อนที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แต่ไปไม่ถูกจึงกลับบ้านเวลาประมาณ 22 นาฬิกาเมื่อเดินผ่านบ้านจำเลย จำเลยโผล่หน้าทางประตูบ้านถามว่าไปไหนมา พยานบอกว่าไปงานศพ จำเลยว่าแล้วจะไปไหน พยานว่าจะกลับบ้าน จำเลยบอกว่าพี่ชายพยานตามหาตัวอยู่ พยานว่าพบพี่ชายแล้ว จำเลยชักชวนพยานให้เข้าไปนั่งในบ้าน พยานว่าจะกลับบ้าน จำเลยบอกว่าเดี๋ยวค่อยกลับก็ได้แล้วจำเลยก็จูงมือพยานเข้าไปในบ้าน ไปในห้องนอนโดยพยานเดินตามจำเลยไปจำเลยให้พยานไปนั่งบนที่นอนของจำเลยและจำเลยก็นั่งด้วย พยานบอกว่าจะกลับบ้านจำเลยว่ายังไม่ให้กลับ จากนั้นจำเลยยกตัวพยานขึ้นนั่งบนตักของจำเลยแล้วจำเลยจูบแก้มและซอกคอพยานใช้มือโอบกอด ขณะนั้นนายสุริยนต์พี่ชายพยานมาเคาะประตูห้องนอนจำเลย จำเลยเดินไปปิดไฟแล้วเปิดประตูห้องนอน นายสุริยนต์ถามจำเลยว่าพยานอยู่หรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่อยู่ พยานลุกขึ้นแล้วบอกว่าอยู่นี่พร้อมเดินออกมาหานายสุริยนต์ นายสุริยนต์บอกให้พยานกลับบ้าน พยานก็กลับ ถึงบ้านนายสุริยนต์ถามพยานว่าพยานไปทำอะไรในห้องจำเลย พยานบอกว่าจำเลยชวนเข้าไปนั่งคุย แต่นายสุริยนต์ไม่เชื่อ จึงทุบตีพยาน นางสมสมัยซึ่งเป็นมารดาพยานได้ยินเสียงทุบตีกันจึงขึ้นมาดูเหตุการณ์ โจทก์มีนางสมสมัยและนายสุริยนต์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนพยานทั้งสามไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน โดยเฉพาะเด็กหญิงสุพรรณษาพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานสนิทสนมกับจำเลยมาก ซึ่งนางสมสมัยก็เบิกความสนับสนุน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์เบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานทั้งสามเบิกความไปตามความเป็นจริง กรณีนี้แม้นางสมสมัยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ 3 วัน แม้มิใช่โดยทันทีก็ตาม แต่ชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำอนาจาร จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 และชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.5 และจำเลยได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุ ประกอบคำให้การรับสารภาพและภาพถ่ายหมาย จ.6 และ จ.7 โดยโจทก์มีสิบตำรวจตรีกมล ศิริสวัสดิ์ ผู้จับกุมและร้อยตำรวจเอกอดุล เวปุลานนท์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าว พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยเฉพาะ ร้อยตำรวจเอกอดุลไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานทั้งสองจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง ที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การดังกล่าวโดยไม่อ่านให้ละเอียดจำเลยทราบเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหากระทำอนาจารเท่านั้นทั้งจำเลยก็ไม่เข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารอย่างไรนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกอดุลเบิกความชัดเจนว่า ได้อ่านบันทึกคำให้การของจำเลยดังกล่าวให้จำเลยฟังแล้วซึ่งในคำแก้ฎีกาของจำเลยก็มิได้โต้เถียงในเรื่องนี้ ดังนั้นข้ออ้างดังกล่าวตามคำแก้ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ไม่มีการขู่เข็ญล่อลวงหรือให้คำมั่นสัญญาแต่อย่างใด เมื่อรับฟังได้เช่นนี้จึงทำให้คำเบิกความของเด็กหญิงสุพรรณษา นายสุริยนต์และนางสมสมัยมีน้ำหนักในการรับฟังได้ ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์เมื่อฟังประกอบกันทั้งหมดแล้วมีน้ำหนักมั่นคงปราศจากข้อสงสัย พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเด็กหญิงสุพรรณษาพบจำเลย และเข้าไปในห้องจำเลยแล้วจำเลยกอดจูบเด็กหญิงสุพรรณษา มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า จากไป พาเอาไปเสียจาก แยกออกจากกันหรือเอาออกจากกัน ดังนั้น คำว่า “พราก” ในความผิดฐานดังกล่าวจึงมีความหมายว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ตามที่เด็กหญิงสุพรรณษาเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเพียงแต่จูงพยานเข้าไปในห้องโดยมิได้ใช้แรงฉุดเข้าไปแล้วให้นั่งรออยู่คนเดียวเป็นเวลา 20 นาที ระหว่างนั้นพยานก็สามารถจะกลับบ้านได้ พยานเคยเข้าไปนั่งเล่นในห้องนอนจำเลยบ่อย ๆ เมื่อเวลาไปหาเด็กหญิงไก่โดยบางครั้งจำเลยก็อยู่ บางครั้งจำเลยก็ไม่อยู่บางครั้งเด็กหญิงไก่ก็มานั่งเล่นด้วย อันเป็นการแสดงว่าห้องนอนจำเลยนั้นเป็นสถานที่ที่เด็กหญิงสุพรรณษาเคยเข้าไป นางสมสมัยก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยกับเด็กหญิงสุพรรณษารู้จักกันมานานประมาณ 2 ปี มีความสนิทสนมกัน ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดี มีลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่าการที่เด็กหญิงสุพรรณษาเข้าไปในห้องนอนจำเลยและอยู่ในห้องนอนจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลานานนั้นเป็นไปโดยความเต็มใจของเด็กหญิงสุพรรณษา เนื่องจากเด็กหญิงสุพรรณษาชอบพอจำเลยมากกว่าที่จะถูกชักชวนและจูงจากจำเลย เพราะเด็กหญิงสุพรรณษาสามารถที่ไม่ไปตามที่จำเลยจูงก็ได้เนื่องจากจำเลยมิได้ใช้กำลัง และสามารถที่จะกลับบ้านตนเองได้ระหว่างที่อยู่คนเดียวเนื่องจากไม่มีอะไรมาขัดขวาง การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะพาไปหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของมารดาเด็ก อันทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน จึงไม่เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share