คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 500,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ติดต่อขอกู้เงินโจทก์อีก 4,000,000 บาท แล้วโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยระบุรวมเอาจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยกู้จากโจทก์ไปก่อนหน้านั้นเข้าไว้ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท แม้การกู้เงินกันจำนวน 4,000,000 บาท ในภายหลังจะไม่เกิดขึ้น หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็ยังมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ในหนี้จำนวน 500,000 บาท ที่มีการกู้ยืมกันจริง และถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีในหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 500,000 บาท แล้วตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 587,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยส่งมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี ฉบับเลขที่ 1391586 คืนแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 587,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี เลขที่ 1391586 คืนแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยได้ติดต่อขอกู้เงินจากโจทก์จำนวน 4,000,000 บาท โจทก์สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี เลขที่ 1391586 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท และต้นขั้วเช็คมอบให้แก่จำเลย และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน และสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยมีนบุรี เลขที่ 0141755 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2541 จำนวนเงิน 6,400,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากโจทก์มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย จำเลยจึงติดต่อขอหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและเช็คของจำเลยคืนจากโจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ไว้เป็นหลักฐาน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 500,000 บาท และต่อมาจำเลยได้ติดต่อจะขอกู้เงินโจทก์อีกจำนวน 4,000,000 บาท แล้วโจทก์กับจำเลยได้ทำหลักฐานการกู้ยืมโดยระบุรวมเอาจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยกู้จากโจทก์ไปก่อนหน้านั้นเข้าไว้ด้วยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท ดังที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 4 ดังนั้น แม้การกู้เงินกันจำนวน 4,000,000 บาท ในภายหลังจะไม่เกิดขึ้น หนังสือสัญญากู้ยืมเงินก็ยังมีผลสมบูรณ์บังคับได้ในหนี้จำนวน 500,000 บาท ที่มีการกู้ยืมกันจริง โดยเอกสารหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหาใช่เป็นเอกสารปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีในหนี้เงินกู้ยืมจำนวนเงิน 500,000 บาทแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share