คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุ เด็กชาย ด. บุตรโจทก์ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องเดินรถที่ 2 เป็นช่องเดินรถที่ 1 และอยู่ห่างจากสี่แยกประมาณ 30 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่รถจะเลี้ยวขวาจะต้องชิดทางด้านขวาสุดของทางเดินรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หากจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถมาในช่องทางเดินรถที่ 1 ได้ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงเหมือนกับรถคันอื่นก็จะไม่เกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้า เพราะสามารถหยุดรถได้ทัน หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นพฤติการณ์ของผู้ที่รู้ว่าตนกระทำความผิดแล้วหลบหนีไป เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
ค่าขาดประโยชน์ที่มารดาของเด็กชาย ด. ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาเด็กชาย ด. มิใช่ค่าเสียหายที่เด็กชาย ด. พึงเรียกร้องได้ในกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อเด็กชาย ด. ทำให้เด็กชาย ด. ได้รับความเสียหายแก่กายหรืออนามัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 444, 445 และ 446

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 4,730,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 80,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 879,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์โดยให้ใช้แทนในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 แสดงว่าขณะรถชนกันรถจักรยานยนต์ของเด็กชายดนตรี บุตรโจทก์ได้เปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องเดินรถที่ 2 เป็นช่องเดินรถที่ 1 แล้ว และได้ความว่าจุดชนอยู่ห่างจากสี่แยกข่วงสิงห์ประมาณ 30 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่รถจะเลี้ยวขวาจะต้องชิดทางด้านขวาสุดของทางเดินรถตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 51 (2) (ข) ขณะนั้นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดง รถที่แล่นอยู่บริเวณนั้นได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุด หากจำเลยที่ 1 ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงเหมือนกับรถคันอื่นก็ย่อมจะไม่เกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้าในช่องเดินรถเดียวกันนั้น เพราะสามารถหยุดรถได้ทัน ทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ให้ความช่วยเหลือและไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นพฤติการณ์ของผู้ที่รู้ว่าตนกระทำความผิดแล้วหลบหนีไป ดังนั้น เมื่อพยานจำเลยที่ 2 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่รู้เห็นเหตุการณ์เป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า เหตุรถชนกันเกิดขึ้นเพราะเด็กชายดนตรีขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้ารถที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วไปเฉี่ยวชนไฟหน้ารถจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ล้มลงเองเท่านั้น โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนพยาน จำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องของโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระแก่โจทก์เป็นค่ารักษาพยาบาล 194,665 บาท ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 50,000 บาท ค่าเสียหายเพราะเหตุที่เด็กชายดนตรีต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการที่เด็กชายดนตรีพิการไม่สามารถทำอะไรได้เป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 844,665 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายเป็นค่าเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น เนื่องจากนางสำราญมารดาเด็กชายดนตรีต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลเด็กชายดนตรีที่พิการนั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์ที่มารดาเด็กชายดนตรีไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาเด็กชายดนตรี มิใช่เป็นค่าเสียหายที่เด็กชายดนตรีพึงเรียกร้องได้ในกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อเด็กชายดนตรีทำให้เด็กชายดนตรีได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444, 445 และ 446 จึงไม่อาจกำหนดให้ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 844,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้นนั้น ให้จำเลยที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ โดยให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share