คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยตนเองยังปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท โดยพูดด่าว่าโจทก์ว่า “ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของกู ไปให้พ้นไม่ต้องมาใช้น้ำบ้านกู ให้มึงรื้อบ้านออกไปเป็นขอทานที่วัดเสียเลย” ทั้งยังด่าว่าโจทก์อีกว่า “พ่ออย่างมึงกูไม่นับถือเป็นพ่อต่อไป” นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกเงินค่าขายที่ดินที่โจทก์ฝากไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้พาพวกไปที่บ้านโจทก์โดยจำเลยที่ 1 พูดจาข่มขู่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาเสีย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจะฆ่าโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า “ไอ้เหี้ยให้รื้อบ้านออกไปจากที่กู” และบอกเรื่องที่ดินว่า “ได้ขายให้คนอื่นแล้ว มึงอย่าหวังว่าจะได้คืนจากกูได้” การที่จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้
การที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยอ้างเหตุว่าตนเห็นว่ายังมีการฟ้องร้องกันอยู่ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทกันแล้วยังซื้อไว้ เช่นนี้น่าจะเป็นการซื้อไว้โดยไม่สุจริต ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ยังอาศัยอยู่กับบิดามารดา และไม่มีเหตุผลใด ๆ ในการซื้อที่ดินพิพาทมาทิ้งไว้โดยไม่เข้าทำประโยชน์ พฤติการณ์ในการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ผู้ให้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4894 เลขที่ดิน 49 ตำบลช่องสาลิกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้ประพฤติเนรคุณ ขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินกลับคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินกลับคืนให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริตไม่ได้ฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนการให้ที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ยกที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 4894 เลขที่ดิน 49 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคืนการให้ได้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วประมาณ 2 ปี โจทก์ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ต่อมาระหว่างปลายเดือนเมษายน 2539 จนถึงเดือนกันยายน 2539 จำเลยที่ 1 มีนิสัยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 1 ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ ทั้งขับไล่ให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท และพูดด่าว่าโจทก์ว่า “ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของกู ไปให้พ้นไม่ต้องมาใช้น้ำบ้านกู ให้มึงรื้อบ้านออกไปเป็นขอทานที่วัดเสียเลย” ทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า “พ่ออย่างมึงกูไม่นับถือเป็นพ่อต่อไป” นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกเงินค่าขายที่ดินที่โจทก์ฝากไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ก็ได้พาพวกไปที่บ้านโจทก์ จำเลยที่ 1 พูดข่มขู่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาเสีย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจะฆ่าโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า “ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่กู” กับถามโจทก์ว่า “มึงฟ้องกูทำไม ให้ถอนฟ้องเสีย” ที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็บอกว่า “ได้ขายให้คนอื่นแล้ว มึงอย่าหวังว่าจะได้คืนจากกูได้” และโจทก์มีนายไกรสร ศรีพระจันทร์ บุตรโจทก์กับนางจำนง ศรีพระจันทร์ ภริยาโจทก์เป็นพยานสนับสนุนพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ก้าวร้าวด่าว่าโจทก์ แม้นายไกรสรและนางจำนงค์จะมีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทหากกลับคืนมาเป็นของโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปั้นแต่งเรื่องให้จำเลยที่ 1 ต้องเดือดร้อน อีกทั้งไม่มีเหตุที่นายไกรสรจะต้องปรักปรำจำเลยที่ 1 ส่วนนางจำนงแม้เป็นเพียงมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ก็เลี้ยงดูจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่เล็กเสมือนเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่ง และก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการที่โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์ก็เพราะโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ข้อหายักยอกเงินที่โจทก์ฝากธนาคารไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับว่าได้เบิกเงินของโจทก์ไปจริง การที่จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อใดก็มิใช่สาระสำคัญถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เสียเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นไปโดยการฉ้อฉล อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขอเพิกถอนได้หรือไม่ จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายสามีจำเลยที่ 1 ยังอยู่อาศัยกับบิดามารดาช่วยบิดามารดาเลี้ยงวัว จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทด้วยเหตุผลใดก็ไม่ปรากฏ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย จำเลยที่ 1 คงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอด โดยเฉพาะการโอนขายที่ดินพิพาทได้กระทำลงในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีปัญหาข้อขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่อาศัยในที่พิพาทเพราะยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทแล้วยังซื้อไว้ เช่นนี้น่าจะเป็นการซื้อไว้โดยไม่สุจริต การเลี้ยงวัวของจำเลยที่ 2 ได้กู้ยืมเงินธนาคารมาดำเนินกิจการ รายได้จากการขายน้ำนมดิบจำเลยที่ 2 กับบิดาต้องนำไปชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว จึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะมีเงินเหลือพอที่จะซื้อที่ดินพิพาทได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็อ้างว่ามีที่ดินของตนเองอยู่แล้วถึง 50 ไร่ มาซื้อที่ดินพิพาทอีก 25 ไร่เศษ ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้คุ้มกับเงินที่ลงทุน ทั้งที่อ้างว่าเงินจำนวน 570,000 บาทเศษ ที่ชำระเป็นค่าที่ดินและค่าธรรมเนียมการโอนเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 เก็บไว้ที่บ้าน มิได้ไปเบิกจากธนาคารยิ่งเป็นข้อพิรุธผิดปกติวิสัยที่จะเก็บเงินจำนวนมากเช่นนี้ไว้ที่บ้านพฤติการณ์ในการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ผู้ให้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share