คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลยนี้ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้ได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ได้ตกลงกันในข้อ 21 ว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญา
สัญญาจ้างแรงงานกำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินการในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวรวม 8,096,472 บาท หรือ 293,473 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 และจำเลยได้ลงนามในหนังสือสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานจึงทำเป็นหนังสือขึ้นที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อตกลงให้สัญญาจ้างแรงงานอยู่ภายใต้บังคับและการตีความของกฎหมายมลรัฐนิวเจอร์ซี่ และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 และไม่มีข้อความขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันที่จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ โจทก์ยังไม่ได้ให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาเพื่อระงับข้อพิพาท ขอให้ศาลแรงงานกลางจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 สัญญาจ้างแรงงานมีข้อความที่เอาเปรียบโจทก์เกินควร ทำให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาระงับข้อพิพาทก่อน จึงไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางให้วินิจฉัยได้ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษ มีหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามเอกสารหมาย จล. 1 โจทก์มีภูมิลำเนาตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จล. 2 จำเลยเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนและมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามเอกสารหมาย จล. 6 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสผู้บริหารสัญญา โดยมีการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือไว้ตามเอกสารหมาย จล. 4 โจทก์ลงนามในสัญญาดังกล่าวในประเทศไทยแล้วจึงส่งสัญญาไปให้ผู้มีอำนาจของจำเลยลงนามที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2545 ตามเอกสารหมาย จล. 5 ลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่จำเลยทำสัญญาจ้างให้ทำงานในประเทศไทยในโครงการพิพาท จะมีข้อตกลงในสัญญาจ้างเรื่องอนุญาโตตุลาการและการใช้บังคับกฎหมายต่างประเทศทำนองเดียวกับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกา จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลยนี้ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้ได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 ที่บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณีในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกันกฎหมายที่จะใช้บังคับได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น” เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ได้ตกลงกันในข้อ 21 ว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ได้ตกลงกันในข้อ 21 ว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญา และสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวข้อ 20 กำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟังร้องคดีกระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้เพราะเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่คู่กรณีตกลงให้บุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่คู่กรณีตกลงให้บุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแทนตุลาการในศาล ข้อตกลงนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายไทย และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกเสียจากสารบบความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share